ประเด็นน่าสนใจ
- หลายคดีใหญ่ๆ หรือ อุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งผู้ก่อเหตุมักจะระบุว่า ป่วยเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ หรือมีอาการป่วยทางจิต
- รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุ ที่อ้างว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือป่วยทางจิตไม่สามารถนำมาอ้างให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีได้
- แต่ละคดีจะมีการพิจารณาแตกต่างกันไป
จากกรณีเหตุต่างๆ ซึ่งหลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุอ้างว่าที่กระทำผิดนั้น เนื่องมาจากป่วยโรคซึมเศร้าหรือมีปัญหาทางจิต โดย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า แนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพิจารณาไปตามพยานหลักฐาน ซึ่งการที่อ้างว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือป่วยทางจิตไม่สามารถนำมาอ้างให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีได้
โดยในแต่ละคดีหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจับกุมหรือแจ้งข้อกล่าวหาแล้วจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน และไม่ว่าผู้กระทำผิดจะอ้างเหตุผลเรื่องป่วยหรือมีปัญหาทางจิตในด้านใดจะต้องมีการนำรายงานผลตรวจพิสูจน์จากแพทย์มาประกอบการสอบปากคำและการสอบสวน
ในส่วนของตำรวจสิ่งที่สามารถทำได้คือการรวบรวมพยานหลักฐาน ในการกระทำความผิดและพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง แต่หากมีอาการป่วยทางจิตจริงก็จะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในการพิจารณาพร้อมพยานหลักฐานว่าในแต่ละคดีต้องรับโทษเต็มจำนวน บรรเทาโทษ หรือไม่ต้องรับโทษได้ ซึ่งแต่ละคดีจะมีการพิจารณาแตกต่างกันไปเช่นกัน