Gadhimai บูชายัญ อินเดีย เทศกาลคฒิมาอี

บูชายัญสัตว์ 8,000 ตัวในวันเดียวในเทศกาลคฒิมาอี

พารา, เนปาล, 3 ธ.ค. (ซินหัว) — หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยว่าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ธ.ค.) สัตว์ราว 8,000 ตัวถูกบูชายัญในเทศกาลคฒิมาอี (Gadhimai) ของเนปาล ซึ่งเป็นเทศกาลบูชายัญสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก…

Home / NEWS / บูชายัญสัตว์ 8,000 ตัวในวันเดียวในเทศกาลคฒิมาอี

ประเด็นน่าสนใจ

  • เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเทศกาลคฒิมาอี ซึ่งเป็นเทศกาลบูชายัญสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • คาดการณ์กันว่า มีสัตว์กว่า 8 พันตัวถูกฆ่าเพื่อทำพิธีสังเวย
  • โดยเชื่อว่าจะช่วยให้แคล้วคลาดจากอุปสรรค โรคภัยต่างๆ

พารา, เนปาล, 3 ธ.ค. (ซินหัว) — หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยว่าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ธ.ค.) สัตว์ราว 8,000 ตัวถูกบูชายัญในเทศกาลคฒิมาอี (Gadhimai) ของเนปาล ซึ่งเป็นเทศกาลบูชายัญสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ผู้คนหลายแสนจากทั่วทั้งเนปาลและอินเดียเดินทางมาร่วมงานที่เมืองพริยารปุระ (Bariyapur) ในเขตพารา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลประมาณ 160 กิโลเมตร เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ที่จะจัดขึ้นทุก 5 ปี

วันอังคารและวันพุธเป็นวันที่สำคัญที่สุดของเทศกาลคฒิมาอี ซึ่งจะจัดขึ้นตลอดระยะเวลา 1 เดือน โดยเป็นวันที่สัตว์หลายพันตัว เช่น ควาย แพะ ไก่ และสัตว์อื่นๆ ถูกนำมาบูชายัญ ผู้คนใช้สัตว์เป็นเครื่องสังเวยเพื่อขอพรให้แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวง ขอให้มีสุขภาพดี ขอให้ครอบครัวประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง หรือเพื่อแก้บน

ภาพจากสำนักข่าวซินหัว

แม้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ประเมินว่า ควายกว่า 8 พันตัวถูกบูชายัญ

พีเรนทรา ประสาท ยาทว (Birendra Prasad Yadav) เลขาธิการคณะกรรมการจัดงานเทศกาลให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อวันอังคาร (3 ธ.ค.) ว่า

“แม้ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่เราประเมินว่าควายราว 8,000 ตัวถูกบูชายัญในวันนี้ เราได้พยายามเต็มกำลังที่จะให้ผู้คนลบล้างความเชื่อเรื่องการบูชายัญ แต่ไม่อาจชักจูงบรรดาผู้อุทิศตนและชาวบ้านได้”

“เทศกาลคฒิมาอีเกี่ยวพันกับความเชื่อของชาวบ้าน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถหยุดยั้งการสังเวยชีวิตสัตว์ได้โดยทันที” เลขาธิการฯ กล่าว และเสริมว่าหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ และผู้เกี่ยวข้องได้พยายามอย่างเต็มกำลังเพื่อสร้างความตระหนักให้ชาวบ้าน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทศกาลคฒิมาอีถูกองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากการฆ่าและสังเวยสัตว์ โดยเฉพาะนับตั้งแต่การจัดเทศกาลครั้งล่าสุดเมื่อปี 2014

นอกจากการขอพร ผู้ศรัทธาบางคนยังบูชาเลือดเพื่อความพึงพอใจของเจ้าแม่คฒิมาอี เทวีผู้ทรงอำนาจ นอกจากนี้ บางคนยังถวายมะพร้าว ขนมหวาน เครื่องนุ่งห่มสีแดง ดอกไม้ หรือเครื่องสักการะอื่นๆ

ตามธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลคฒิมาอี วันแรกจะเป็นการบูชายัญควายเท่านั้น ขณะที่วันที่สองเป็นการบูชายัญด้วยแพะและสัตว์อื่นๆ ทั้งนี้ มีการประเมินว่าแพะหลายพันตัวจะถูกสังเวยในวันพุธ และหลังจากนั้นฝูงชนจะทยอยลดจำนวนลง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่าเทศกาลคฒิมาอี ซึ่งจะจัดไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เดินทางมาจากอินเดีย

ฟาฑินทรา มณี โปขเรล (Fadindra Mani Pokharel) นายอำเภอพารากล่าวว่าเป็นเรื่องท้าทายในการจัดการงานที่มีคนเข้าร่วมมหาศาลให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

โปขเรล ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งที่เขตพาราตั้งแต่ 3 เดือนก่อนระบุว่า “เราได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยราว 2,000 รายไปประจำยังวัดที่จัดงาน และพื้นที่อื่น รวมถึงที่จุดผ่านแดนเนปาล-อินเดีย”

โปขเรลระบุว่าเมื่อคำนึงถึงเสียงคัดค้านที่เพิ่มมากขึ้นจากองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ต่างๆ ทุกฝ่ายควรหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมมาแทนที่การบูชายัญสัตว์ เพื่อลดการสังเวยชีวิต

ที่มาจาก สำนักข่าวซินหัว