ประเด็นน่าสนใจ
- คณะนักวิจัยจีนรายงานห่วงโซ่การส่งผ่านเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
- พบว่าสายพันธุ์ดังกล่าวมีระยะฟักตัวสั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ
- ปริมาณเชื้อไวรัสฯ สูงขึ้น และระยะเวลาการขับเชื้อยาวนานขึ้น
- สายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่กระจาย 4 ขั้น ในระยะเวลา 10 วัน
คณะนักวิจัยจีนรายงานห่วงโซ่การส่งผ่านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา ฉบับสมบูรณ์ รวมถึงจลนพลศาสตร์และลักษณะทางคลินิกของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่งเสริมการป้องกันและควบคุมเชื้อไวรัสฯ
การศึกษาข้างต้นดำเนินการโดยคณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลประชาชนกว่างโจวหมายเลข 8 และสถาบันวิจัยอื่น ๆ ที่อ้างอิงข้อมูลการระบาดที่มีต้นตอจากสายพันธุ์เดลตาในนครกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
คณะนักวิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยาและทางคลินิกของผู้ติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลตา และพบว่าสายพันธุ์ดังกล่าวมีระยะฟักตัวสั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ ปริมาณเชื้อไวรัสฯ สูงขึ้น และระยะเวลาการขับเชื้อยาวนานขึ้น
อนุภาคไวรัสจะจับกับตัวรับไวรัสเมื่อบุคคลติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจทั่วไป เช่นเดียวกับตัวรับเอซีอี2 (ACE2) ในเซลล์มนุษย์ที่เป็นช่องทางให้โรคโควิด-19 เข้ามาตามทางเดินหายใจ โดยผู้ป่วยที่อาจยังไม่แสดงอาการจะขับอนุภาคไวรัสออกมาระหว่างทำกิจกรรมประจำวัน อาทิ การพูด การหายใจออก และการกิน
การศึกษาระบุว่าสายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่กระจาย 4 ขั้น ในระยะเวลา 10 วัน โดยการระบาดระหว่างขั้นอันรวดเร็วที่สุดใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง
คณะนักวิจัยยังพบว่าสายพันธุ์เดลตาในกว่างโจวส่วนใหญ่แพร่ผ่านการสัมผัสโดยตรงและการสัมผัสระหว่างซอกฟัน (interproximal) โดยมีการแพร่ทางอาหารคิดเป็นร้อยละ 31.41 ของการระบาด รองลงมาได้แก่การระบาดในครัวเรือน (ร้อยละ 30.13) การระบาดในชุมชน (ร้อยละ 18.59) และเส้นทางการแพร่อื่นๆ ซึ่งรวมถึงการระบาดในที่ทำงานและทางสังคม (ร้อยละ 19.87)
นอกจากนั้นสายพันธุ์เดลตายังมีความเสี่ยงทำให้ผู้สูงอายุป่วยขั้นวิกฤตมากกว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์อื่นด้วย
ทั้งนี้ ผลการวิจัยดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยเดอะแลนเซ็ต (The Lancet) ผ่านอีคลินิคัลเมดิซีน (EClinicalMedicine) วารสารทางคลินิกที่เข้าถึงได้แบบเสรี
ด้านคณะนักวิจัยเชื่อว่าการศึกษาฉบับข้างต้นจะมอบข้อมูลเชิงลึกสำหรับการทำความเข้าใจลักษณะของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานควบคุมเชื้อไวรัสฯ กลายพันธุ์ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างนี้
ที่มา : Xinhua