ประเด็นน่าสนใจ
- แรงงานมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เริ่ม 1 ม.ค. 63
- ตัวแทนแรงงานตั้งคำถามทำไมไม่เป็นไปตามหาเสียง
- ชี้ปรับขึ้นเพียง 5-6 บาท ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน
นางสาวธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกจ้างได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 5-6 บาทครั้งนี้ ถือว่าไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โดยเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้าง อยากทวงถามภาครัฐบาลว่า วันนี้นโยบายที่ได้หาเสียงไว้เมื่อก่อนการเลือกตั้งที่จะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท มีความคืบหน้าอย่างไร
การคิดตัวเลขค่าจ้างอัตราดังกล่าวมาจากฐานอะไร และมีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด จึงขอให้รัฐบาลออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว และอยากให้ทำตามสิ่งที่ได้หาเสียงไว้กับผู้ใช้แรงงานโดยเร็วที่สุด
ก่อนหน้านี้ 14 มี.ค. ที่พรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ร่วมแถลงเปิดนโยบายประชารัฐ “ประเทศไทยต้อง…รวย” ด้วยพลังประชารัฐ
โดยได้เปิดเผยนโยบายโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ตอนหนึ่ง ระบุว่า จะดูแลแรงงานขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน ค่าจ้างอาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน ค่าจ้างปริญญาตรี 20,000 บา
หลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ในขณะนั้น กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำนโยบายรัฐบาลว่า สำหรับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400-425 บาท
เป็นนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐใช้หาเสียงและยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน เพราะการขยับขึ้น 400-425 บาทในทีเดียวจะมีผลกระทบต่อภาคเอกชนแน่นอน