แตกต่าง…แต่เท่าเทียม | เข้าใจ เพศภาวะ แก้ปัญหาสังคมเหลื่อมล้ำทางเพศ

เราเชื่อมาเสมอว่า…สังคมไทยนั้นเท่าเทียม และ เปิดกว้างทางเพศ แต่รู้หรือไม่ว่า สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศในไทยถือว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะความรุนแรงในผู้หญิง ที่มักจะเกิดจากผู้ชาย ด้วยความเชื่อว่าเพศของตนนั้น ยิ่งใหญ่สุด / แข็งแรงสุด / สำคัญสุด จึงทำให้เป็นปัญหาทางสังคมที่เรื้อรังมายาวนาน ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก…

Home / NEWS / แตกต่าง…แต่เท่าเทียม | เข้าใจ เพศภาวะ แก้ปัญหาสังคมเหลื่อมล้ำทางเพศ

เราเชื่อมาเสมอว่า…สังคมไทยนั้นเท่าเทียม และ เปิดกว้างทางเพศ แต่รู้หรือไม่ว่า สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศในไทยถือว่าอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะความรุนแรงในผู้หญิง ที่มักจะเกิดจากผู้ชาย ด้วยความเชื่อว่าเพศของตนนั้น ยิ่งใหญ่สุด / แข็งแรงสุด / สำคัญสุด จึงทำให้เป็นปัญหาทางสังคมที่เรื้อรังมายาวนาน

ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก ได้สำรวจความถี่ของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบว่า ความรุนแรงต่อเพศหญิงพบมากใน คู่รัก หรือ แฟน ที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน (Cohabiting) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ชายอายุน้อยมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงมากกว่าผู้ชายที่มีอายุมากกว่า ดังนั้นจึงควรเริ่มตระหนักเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถึง เพศภาวะ เพื่อขจัดปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เพศภาวะ…คืออะไร ?

ก่อนจะเข้าใจ เพศภาวะ ต้องรู้เบื้องต้นก่อนว่า การแบ่งบุคคลออกเป็นเพศต่าง ๆ โดยยึดจากลักษณะทางสรีระของอวัยวะเพศ และระบบสืบพันธุ์ตามที่บุคคลถือกําเนิดเป็นหลักอย่าง เพศกําเนิด ถูกเรียกว่า เพศ หรือ Sex

ดังนั้น เพศภาวะ หรือ Gender จึงไม่เหมือนกับ ‘เพศ’ เนื่องจากปัจจุบันได้มีการเปิดกว้างมากขึ้นทางสังคม จึงมีการเลือกสภาวะหรือลักษณะที่สะท้อนความเป็น ผู้หญิง, ผู้ชาย หรือ ผู้หลากหลายทางเพศ ตามที่ค่านิยมที่สังคมกําหนดบรรทัดฐานไว้  ที่เรียกว่า เพศกําหนด หรือ เพศทางสังคม 

TIPS : “ สมัยนี้ใบสมัครงานหลายแห่งให้ระบุ เพศภาวะ หรือ Gender ตรงช่องกรอกข้อมูล แทนที่ เพศ หรือ Sex แล้ว “

ความเสมอภาคทางเพศ (Gender inequality)

ถึงแม้สังคมไทยจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นสังคมที่ไม่มีความเสมอภาคทางเพศ (Gender inequality) เราสามารถพบความเหลื่อมล้ำ ทั้งเพศที่แตกต่าง และเพศเดียวกัน จนส่งผลไปถึงการมองคนที่ชนชั้น และเชื้อชาติ ซึ่งความเหลื่อมล้ำดังกล่าวถูกบ่มเพาะจากการเลี้ยงดูในครอบครัว

ที่ผ่านมาครอบครัวไทยมักกําหนด เพศภาวะ ให้ยึดโยงกับ เพศกําเนิด ส่งผลให้ ผู้ชาย, ผู้หญิง และ ผู้หลากหลายทางเพศ ได้รับความกดดันให้มีพฤติกรรมตามที่สังคมกําหนด แต่ผู้หญิง และผู้หลากหลายทางเพศทุกวัยมีอํานาจทางสังคมน้อยจึงได้รับผลกระทบมาก เช่น มีหลักฐานว่า ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาสําคัญอันดับหนึ่งของสุขภาวะผู้หญิง ผู้หญิงไทยมีอายุยืนยาว กว่าผู้ชายแต่มีคุณภาพชีวิตด้อยกว่า มีภาวะซึมเศร้ามากกว่า อยู่กับโรคเรื้อรังและความพิการยาวนานกว่า

ความเหลื่อมล้ำทำลาย GDP 

เรื่องเพศภาวะได้ถูกกําหนดอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2554-2573) ถูกกําหนดให้เป็นหนึ่งในปัจจัยทางสังคม ด้านสุขภาพ (Social determinants of health) ปัญหาสุขภาวะครอบครัวทําให้ครอบครัวอ่อนแอ โดยที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาที่สําคัญคือ ความรุนแรงในครอบครัว โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การใช้สารเสพติด การดื่มสุรา การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม

ดังนั้นประเทศชาติจึงไม่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดการสูญเสียด้านเศรษฐกิจโดยรวม เช่น ภาพสะท้อนจากการวิจัยของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556 พบว่า ประชากรไทยมีการสูญเสียปีสุขภาพดี* รวมกัน 14.3 ล้านปี มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 430,053 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 3.2 ของจีดีพีประเทศ ทั้งนี้สาเหตุหลักของการสูญเสียจํานวนปีแห่งการมีสุขภาพที่ดีในเพศต่าง ๆ แตกต่างกัน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็น ผลมาจากเพศภาวะ 

Tips : การสูญเสียปีสุขภาพดี หรือ การสูญเสียปีสุขภาวะ เป็นค่าแสดงภาระโรค (disease burden) โดยทั่วไปเป็นจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย เป็นค่าที่พัฒนาขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1990 เพื่อเปรียบเทียบสุขภาพทั่วไปและการคาดหมายคงชีพของประเทศต่าง ๆ เป็นค่าที่ใช้อย่างสามัญขึ้นเรื่อย ๆ ในสาขาสาธารสุขและในการประเมินผลต่อสุขภาพ (HIA)

วิถีเพศภาวะ (Gender approach)

ด้วยเหตุนี้จึงเกิด วิถีเพศภาวะ (Gender approach) ขึ้นมา การดําเนินงานต่าง ๆ ที่ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมระหว่างบุคคลเพศต่าง ๆ ในสังคม สร้างค่านิยม บรรทัดฐาน ความคาดหวังของ ครอบครัว สังคมให้คุณค่าแก่บุคคลทุกเพศภาวะอย่างเสมอภาค และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี

การดําเนินงานโดยใช้ วิถีเพศภาวะ จึงหมายถึงการที่ สถาบัน หรือ องค์กรทางสังคมต่าง ๆ ตระหนักรู้ว่าสังคมยังมีความไม่เสมอภาคทางเพศ และดําเนินงานต่าง ๆ โดยมุ่งให้เกิดผลเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมระหว่างบุคคลเพศต่าง ๆ ในสังคม

  • ภาครัฐ : คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ทุกกระทรวง ทบวง และ กรม จัดตั้งศูนย์ ประสานงานด้านความเสมอภาคหญิงชาย (Gender Focal Point-GFP) รับผิดชอบการจัดทําแผนแม่บทด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ทําให้เกิดสถานการณ์ที่แสดง ถึงความไม่เสมอภาค และไม่เป็นธรรมทางเพศอยู่ทั่วไป
  • ภาคการศึกษา บริการสุขภาพ สวัสดิการสังคม และสื่อมวลชน : ขาดองค์ความรู้ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ทําให้ต้องเผชิญกับปัญหาทางเพศภาวะ นอกจากนั้นสื่อส่วนใหญ่ยังผลิตซ้ำ (stereotype) วิถีเพศภาวะที่แสดงถึงการจํานนต่อความไม่เสมอภาคทางเพศของ เพศหญิง และ ผู้หลากหลายทางเพศ
  • ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ : มีองค์กร จํานวนมากดำเนินงานเพื่อสร้างพลังอํานาจให้กับเพศหญิง และผู้หลากหลายทางเพศ มีกิจกรรมช่วยเหลือเด็กและเพศหญิงที่ถูกกระทํา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการ แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุที่การใช้วิถีเพศภาวะเป็นเครื่องมือในการเสริมพลังครอบครัว

โดยในสังคมที่ไม่มีความเสมอภาคและไม่เป็นธรรมทางเพศ ทั้ง ชาย หญิง หรือ ผู้หลากหลายทาง เพศ ในครอบครัวที่หลากหลายช่วงวัย และสถานะทางสังคมต่าง ๆ จึงมีปัญหาจากเพศภาวะที่ต่างกัน ความสัมพันธ์เชิงอํานาจไม่เสมอภาคกัน ดังนั้นสังคมควรหันมาร่วมกันปรับปรุงให้ทุกคนเข้าใจ เพศภาวะ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อขจัดปัญหาความรุนแรงไปจากสังคม

แตกต่าง…แต่เท่าเทียม