ประเด็นน่าสนใจ
- กระทรวงการคลัง เตรียมประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 20 ธันวาคมนี้
- ชี้กรณี ‘ปลูกมะนาวรัชดา’ กฎหมายเปิดช่องทางให้นักธุรกิจสามารถแปลงสภาพที่รกร้างเป็นที่ดินทางการเกษตรได้ โดยไม่ถือเป็นการหลบเลี่ยงภาษี
กรณีกลุ่มธุรกิจเช่าและรับจำนองอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง ปลูกมะนาวนับพันต้นบนถนนรัชดาภิเษก ก่อนการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องผิด และรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนให้ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์
แต่ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งดีกว่าปล่อยรกร้างว่างเปล่า ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นผู้ยกร่างกฎหมายลูก กำหนดหลักเกณฑ์ และนิยามชนิดพืช ระยะเวลาปลูก เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้
นักเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า แม้กฎหมายเปิดโอกาสให้นักธุรกิจ สามารถแปลงสภาพเป็นพื้นที่ทางการเกษตรได้ ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินตามเจตนารมณ์กฎหมาย แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรติดตามพัฒนาการหลังการบังคับใช้กฎหมาย ในช่วง 1-2 ปีแรกอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินประสิทธิภาพการกระจายตัวของกรรมสิทธิ์ และการถือครอง ซึ่งส่งผลต่อราคาที่ดิน รวมทั้งผลต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ยอดการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ ธุรกิจเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นสูงในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงนำร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยจำนวนรายขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 121 เมื่อเทียบกับปีก่อน เช่นเดียวกับทุนจดทะเบียนขยายตัวร้อยละ 721 เมื่อเทียบกับปี 2558 คิดเป็นเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และสัดส่วนการจดทะเบียนชะลอตัวลง ในปี 2562 หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบออกหลักเกณฑ์การผ่อนปรน และลดหย่อนต่างๆ จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
ขณะที่ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เตรียมประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย / กรุงเทพมหานคร / เมืองพัทยา และ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ เพื่อซักซ้อม ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน