พืชใหม่ของโลก

ไทยพบ ‘พืชใหม่ของโลก’ 8 ชนิด

นายสมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ฯ ได้ร่วมวิจัยค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก…

Home / NEWS / ไทยพบ ‘พืชใหม่ของโลก’ 8 ชนิด

ประเด็นน่าสนใจ

  • นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ฯ ได้ร่วมวิจัยค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 8 ชนิด
  • มี 5 ชนิดเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหางเสือ , สกุลสาธรหรือขะเจ๊าะ , สกุลเอื้องกลีบม้วน

นายสมราน สุดดี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ฯ ได้ร่วมวิจัยค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 8 ชนิด โดยมี 5 ชนิดเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหางเสือ (Platostoma) วงศ์กะเพรา (Lamiaceae) 2 ชนิด อยู่ในสกุลสาธรหรือขะเจ๊าะ (Millettia) ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) และอีก 1 ชนิด อยู่ในสกุลเอื้องกลีบม้วน(Liparis) ในวงศ์กล้วยไม้(Orchidaceae)

ซึ่ง 5 ชนิดแรก ตนเริ่มทำการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลา 23 ปี พืชชนิดใหม่จำนวน 5 ชนิดนี้ ได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) ฉบับที่ 47(2) หน้า 226–240 ปี 2562 มีรายละเอียดดังนี้

1.กะเพราถ้ำพระ Platostoma albiflorumSuddee, A. J. Paton & J. Parn.ไม้ล้มลุก พบบริเวณใกล้น้ำตกถ้ำพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ

2.ม่วงบุศบรรณ Platostoma busbanianumSuddee, A. J. Paton & J. Parn.ไม้ล้มลุก พบบริเวณทางเข้าน้ำตกถ้ำพระ ทางเข้าวัดถ้ำโขง และบริเวณก้อนน้ำอ้อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ

3.เห็มรัตน์ภูลังกา Platostoma hemratianumSuddee, Puudjaa & Kiewbang ไม้ล้มลุก พบบริเวณอุทยานแห่งชาติภูลังกา ในเขต อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ

4.ข้าวตอกภูแลนคา Platostoma ovatum Suddee, A. J. Paton & J. Parn., ไม้ล้มลุก พบบริเวณริมหน้าผา อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ

5.ม่วงศรีโพธิ์ไทร Platostoma parnellianumSuddee, A. J. Paton & Kiewbang,ไม้ล้มลุก พบบริเวณริมทางเข้าวนอุทยานภูล้อม อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี

นายสมราน กล่าวต่ออีกว่า พืชชนิดใหม่ 2 ชนิด ในสกุลสาธรหรือขะเจ๊าะ (Millettia) ในวงศ์ถั่ว(Fabaceae) รับผิดชอบทำการศึกษาโดย ดร. สไว มัฐผา นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ถั่วจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้ร่วมวิจัยกับนักพฤกษศาสตร์จากหอพรรณไม้ โดยชนิดที่พบนี้เป็นไม้เถา ซึ่งโดยทั่วไปเรียกว่าหางไหล โดยทั้ง2 ชนิด ได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) ฉบับที่ 47(2) หน้า 171–183 ปี 2562 มีรายละเอียด คือ

6.พรรณรายภูวัว หางไหลภูวัว Millettia phuwuaensisMattapha & Suddee ไม้เถา พบบริเวณใกล้น้ำตกถ้ำพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 5-7 ใบ ช่อดอกออกตามซอกใบหรือตามกิ่งแก่ ดอกสีชมพูอมม่วงแดง กลีบดอกบนด้านหลังมีแถบตามยาวสีแดงอมน้ำตาล

7.หางไหลทุ่งใหญ่ พิไลสมราน Millettia suddeei Mattapha & Tetsana ไม้เถา พบบริเวณลำธารหินปูน หน่วยพิทักษ์ป่ากะแง่สอด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อุ้มผาง จ.ตาก

และสุดท้าย ชนิดที่ 8. เอื้องมรกตพุทธวงค์ Liparis buddhawongiiTetsana, Watthana & H. A. Pedersen กล้วยไม้ดิน อยู่ในสกุลเอื้องกลีบม้วน (Liparis) ในวงศ์กล้วยไม้(Orchidaceae) รับผิดชอบทำการศึกษาโดย น.ส.นัยนา เทศนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ซึ่งถูกค้นพบโดยนายวินศ์ พุทธวงค์ บริเวณเขาหินปูนแถบอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่

นายสมราน กล่าวเพิ่มว่า จากการศึกษาพบว่าบริเวณป่าภูวัว-ภูลังกา เป็นพื้นที่พิเศษ ที่พบพืชชนิดใหม่ของโลกเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีพรรณไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของพืช และเป็นชนิดใหม่ถูกตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมากกว่า 30 ชนิด ใน 15 วงศ์ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการด้านการอนุรักษ์พื้นที่และการวิจัยต่อเนื่องต่อไป