เปิดเผยความคืบหน้าของรฟม. โครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง ในปีที่ผ่านมา
สายสีน้ำเงิน
โครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับระยะทาง 21.5 กม. สถานียกระดับ 15 สถานี และโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบใต้ดินระยะทาง 5.4 กม. สถานีใต้ดิน 4 สถานี
เริ่มก่อสร้าง 4 เม.ย. 54 ผลงานแล้วเสร็จ 100%
เส้นทาง หัวลำโพง-บางแค
ระยะทาง 15.9 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินมีลักษณะทางวิ่งอุโมงคู่รางเดี่ยว ในช่วงหัวลำโพง – ท่าพระ ระยะทาง 5.4 กม. มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี และทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ – บางแค ระยะทาง 10.5 กม. มีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี โครงการจะเริ่มต้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระราม 4 ผ่านถนนเจริญกรุง วังบูรพา ถนนสนามไชย ลอดใต้แม้น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับมีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณบนเกาะกลางถนนเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งจะมีสถานีร่วมกับโครงการฯ สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ไปตามแนวถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า บางแค และสิ้นสุดสายทางที่บริเวณวงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก
เส้นทาง บางซื่อ – ท่าพระ
ระยะทาง 11.08 กม. เป็นเส้นทางยกระดับทั้งหมดมี 8 สถานี มีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน โครงการจะเริ่มต้นโดยการต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล บริเวณสถานีบางซื่อ ผ่านสถานีเตาปูนซึ่งเป็นสถานีร่วมกับโครงการฯ สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับโครงการฯ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค
การดำเนินการก่อสร้าง
ช่วงบางซื่อ-เตาปูน เริ่มก่อสร้าง 4 เม.ย. 54 ผลงานแล้วเสร็จ 100% เปิดให้บริการเดินรถเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 60
ช่วงหัวลำโพง-บางแค ผลงานแล้วเสร็จ 67.03% เร็วกว่าแผน 2.09%
ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ผลงานแล้วเสร็จ 51.49% เร็วกว่าแผน 3.25%
สายสีเขียว
แนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งกรุงเทพมหานคร ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ มีโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอดเส้นทาง ระยะทาง 13 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้นจึงเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง โดยแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกทางด้านทิศตะวันตก และลดระดับเพื่อเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง
การดำเนินการก่อสร้าง
- สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ
เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 55 ผลงานเเล้วเสร็จ 100%
คจร. เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 59 ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการเดินรถ และการโอนโครงสร้างพื้นฐานฯ รวมทั้งประมาณการทางการเงินเบื้องต้น ระหว่าง กทม. และ รฟม. โดย ปกค. ปลัด กทม. และ ผวก.รฟม. ได้ลงนามใน MOU ร่วมกันเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 59
ทั้งนี้ เมื่อ 3 เม.ย. 60 กทม. เปิดให้บริการเดินรถ 1 สถานี ต่อจากสถานีแบริ่งไปยังสถานีสําโรง คจร. เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 60 ได้มีมติสรุปให้ กทม. หารือร่วมกับ รฟม. โดยเห็นว่าท้องถิ่นต้องมีส่วนรับผิดชอบในค่าลงทุน เช่นเดียวกับที่ รฟม. รับไว้โดยให้นําไปหารือถึงสัดส่วนการแบ่งจ่ายเงินลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มเมื่อ กทม. มีรายได้มากขึ้น และต่อมา ครม. เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 60 ได้มีมติ
รับทราบมติ คจร. ดังกล่าวแล้ว
คณะกรรมการ รฟม. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 60 ได้มีมติสรุปว่า เห็นชอบผลการศึกษาตามรายงาน PPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง -สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ -คูคตว่ารูปแบบการลงทุน PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี เป็นรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ที่เหมาะสม
- สายสีเขียว ช่วงหมอชิต – คูคต
เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 58 ผลงานแล้วเสร็จ 78.79% เร็วกว่าแผนงาน 2.26% เช่นเดียวกันกับสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ
สายสีชมพู
เป็นแบบเส้นรัศมีและเส้นรอบวง โดยที่เส้นรัศมีซึ่งรองรับโดยระบบขนส่งมวลชนระบบหลักจะทำหน้าที่กระจายความหนาแน่นของกิจกรรมในเมืองออกสู่พื้นที่ชานเมือง ขณะที่แนวเส้นทางเส้นรอบวง รองรับโดยระบบขนส่งมวลชนกระจายความหนาแน่นของกิจกรรมในเมือง พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ด้านทิศเหนือในแนวตะวันตก ตะวันออก เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับกรุงเทพฯ ตามแนนถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ และรามอินทรา ไปจนถึงเขตมีนบุรี
การดำเนินการก่อสร้าง
- สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (34.5 กม.)
แล้วเสร็จ 81.14% ช้ากว่าแผนงาน 3.16%
รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จํากัด ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบํารุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 60
ทางหลวงและ รฟม. ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตทางเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี เมื่อ 13 ม.ย. 61
รฟม. ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 61 แจ้งให้ผู้รับสัมปทานเริ่มงาน (NTP) ในระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 61 โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้า 7.09% ช้ากว่า แผนงาน 0.78%
สายสีส้ม
ระยะทางรวม 39.6 กม. เป็นสถานีใต้ดิน 23 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี โดยโครงการเริ่มต้นจากสถานีรถไฟตลิ่งชัน จากนั้นใช้แนวเขตรถไฟสายบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนินแล้วเบี่ยง ใช้แนวถนนหลานหลวง ผ่านยมราชแล้วเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี เลี้ยวเข้าถนนราชปรารภถึงดินแดงแล้วเลี้ยว ไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) ตัดตรงไปเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แล้วเบี้ยงเข้าแนวถนนพระรามเก้า ตัดผ่านถนนประดิษฐ์ธรรมนูญ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี แยกถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี
การดำเนินการก่อสร้าง
- สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (35.9 กม.)
ปัจจุบัน ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา สําหรับส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติรูปแบบการลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี(สายสีส้มตลอดสาย)ตามขั้นตอน PPPFastTrack
ส่วนตะวันออก แล้วเสร็จ 87.44% ช้ากว่า แผนงาน 0.52% เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 60 แล้วเสร็จ 18.33% เร็วกว่าแผนงาน 1.48% รฟม. ได้เสนอรายงาน PPP เพื่อขออนุมัติรูปแบบการลงทุนโครงการฯ สายสีส้มตลอดสาย ไปยัง คค. แล้ว
ส่วนตะวันตก คณะอนุกรรมการฯ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 60 ได้มีมติเห็นชอบหลักการรายละเอียด การศึกษาสถานีรถไฟฟ้าและปล่องระบายอากาศ ตามที่ รฟม. เสนอ ในวันที่ 16 มี.ค. 61 ได้มีมติเห็นชอบ ในหลักการรายละเอียดการศึกษาสถานีรถไฟฟ้าและปล่องระบายอากาศในกรุงรัตนโกสินทร์ ตามที่ รฟม. เสนอ จากนั้น คชก. ได้พิจารณารายงานเปลี่ยนแปลงฯ แล้ว 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 61 ได้มีมติให้ปรับปรุงเพิ่มเติม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ
สายสีเหลือง
โดยแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินระยะแรก) ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาของกรุงเทพมหานครที่แยกฉลองรัช และยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาอีกครั้งไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 แห่ง โรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม
- สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สําโรง (30.4 กม.)
รฟม. และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จํากัด ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบํารุงรักษาโครงการรถไฟฟาสายสีเหลืองฯ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 60 ต่อมา รฟม. ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 61 แจ้งให้ผู้รับสัมปทานเริ่มงาน (NTP) ในระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 61 โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้า 6.56% ช้ากว่าแผนงาน 1.75%
สายสีม่วง
แนวเส้นทางโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ เริ่มจากบริเวณคลองบางไผ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ถนนวงแหวนรอบนอก (ตะวันตก) กาญจนาภิเษก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้สะพานพระนั่งเกล้า ก่อนถึงสี่แยกแครายจะเลี้ยวขวาไปตามถนนติวานนท์ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนกรุงเทพ – นนทบุรี ถึงบริเวณแยกเตาปูน มีสถานีเตาปูนเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ
การดำเนินการก่อสร้าง
- สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) (23.6 กม.) การดำเนินการก่อสร้าง
ครม. เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 60 ได้อนุมัติให้ รฟม. ดําเนินงานก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ในกรอบวงเงินรวม 101,112 ล้านบาท ปัจจุบัน รฟม. ดำเนินการเตรียมการประกวดราคา และอยู่ระหว่างจัดทํารายงาน PPP ก่อนเสนอขออนุมัติรูปแบบการลงทุนโครงการฯ ตามขั้นตอนต่อไป
โดยปัญหาและอุปสรรคที่พบคือ ยังไม่มี พ.ร.ฎ. กําหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน และกําหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์ฯ ซึ่งอาจส่งผลให้การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่สอดคล้องกับงานก่อสร้างงานโยธา