ประเด็นน่าสนใจ
- องค์การเภสัชกรรม (จีพีโอ) เตรียมลงนามสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด วันที่ 30 ส.ค.นี้
- พร้อมยืนยัน จีพีโอ ไม่ได้ลดสเปค แต่จัดซื้อตาม Spec ที่ สปสช.กำหนดมาให้
- กทั้งยังระบุให้จัดซื้อตามมาตรฐาน อย. ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นมาตรฐาน WHO
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การจัดซื้อ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลราชวิถี องค์การฯ ไม่ได้เป็นผู้ปรับลดข้อกำหนด หรือ Spec แต่อย่างใด ในการจัดซื้อใช้ข้อกำหนดที่ สปสช.เป็นผู้กำหนดมาตั้งแต่แรก ว่ามีความต้องการชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Covid-19 Antigen test Self -Test kits ) หรือ Home use ไม่ใช่ Professional Use
อีกทั้ง สปสช. ส่งข้อกำหนดล่าสุดในการจัดซื้อ โดยต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพียงอย่างเดียว ไม่ได้กำหนดว่าต้องผ่านมาตรฐาน WHO แต่อย่างใด
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการนั้น เมื่อวานนี้ (วันที่ 26 สิงหาคม 2564) คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษของ สปสช. ได้เห็นชอบราคาชุดตรวจ ATK ที่องค์การฯ เสนอ พร้อมได้ให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจัดซื้อจากองค์การฯ ต่อไป
ซึ่งในวันนี้ (วันที่ 27 สิงหาคม 2564) องค์การฯ กับบริษัทได้เข้าร่วมหารือถึงแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อจัดเตรียมแผนการส่งมอบ การตรวจสอบคุณภาพ ATK และเตรียมการลงนามในสัญญา ซึ่งกำหนดการลงนามในวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 นี้
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการตรวจสอบและติดตามคุณภาพสินค้าที่ส่งมอบนั้น องค์การฯ มีนโยบายคุณภาพชัดเจนที่จะไม่ยอมให้ผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพไปสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค สำหรับ ATK นี้ องค์การฯ มีกระบวนการตรวจสอบและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน โดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจรับก่อนส่งให้หน่วยบริการ จนถึงตรวจติดตามเฝ้าระวังคุณภาพของ ATK ภายหลังการส่งมอบด้วย
“เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของชุดตรวจ ATK แก่สังคม ในมุมมองต่าง ๆ ทั้งเรื่องของมาตรฐานคุณภาพ วิธีการใช้งาน ตลอดจนราคาของ ATK และที่สำคัญคือการที่มีการแข่งขันในการเสนอราคา ทำให้ราคาของ ATK ในประเทศที่ยังสูงอยู่มากนั้น มีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงการตรวจด้วย ATK ได้มากขึ้น ค้นหาผู้ติดเชื้อในวงกว้าง เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงหากมีการใช้กันอย่างแพร่หลายจากการที่หาซื้อได้ง่าย จะทำให้เกิดความมั่นใจและสามารถผ่อนคลายมาตรการได้รวดเร็วขึ้น” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าว
นางศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหารรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด ตัวแทนจำหน่ายชุดตรวจ ATK ของบริษัท ออสท์แลนด์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทต้องการให้คนไทยได้เข้าถึงชุดตรวจ ATK แบบ สวอปจมูกมาจำหน่ายในราคาที่ถูกลง
โดยชุดตรวจจากบริษัท Lepu นี้เป็นที่นิยมใช้เป็นตัวหลักในประเทศเยอรมัน ออสเตรีย และอีกหลาย ๆ ประเทศในยุโรป เมื่อบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ได้รับการอนุมัติจาก อย. จึงสนใจและเป็นฝ่ายเข้าไปติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย สำหรับกระจายให้กับหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มงานราชการ ซึ่ง ATK จะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมทำให้ประเทศไทยกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น และในภาคเศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อ