ข่าวสดวันนี้ สังคมสูงอายุ

ไทยนับถอยหลังสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ในปี 2565

สังคมผู้สูงอายุกำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทยอยเกิดขึ้นในหลายประเทศ ในส่วนของไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้วตั้งแต่เมื่อปี 2548 และกำลังเตรียมนับถอยหลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 เป็นอย่างเร็ว หรือในอีก 3 ปีนับจากนี้…

Home / NEWS / ไทยนับถอยหลังสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ในปี 2565

ประเด็นน่าสนใจ

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไทยนับถอยหลังสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ ในปี 2565
  • ขณะที่เม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี

สังคมผู้สูงอายุกำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทยอยเกิดขึ้นในหลายประเทศ ในส่วนของไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้วตั้งแต่เมื่อปี 2548 และกำลังเตรียมนับถอยหลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 เป็นอย่างเร็ว หรือในอีก 3 ปีนับจากนี้

ปัจจุบันมีราว 6-8 จังหวัดของไทยได้ก้าวเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ไปแล้วก่อนหน้าจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ ลำปาง แพร่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม และอาจรวมถึงลำพูนและอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าไทยจะเป็นประเทศแรกในบรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ หลังจากนั้นในราวปี 2575 ไทยก็มีแนวโน้มที่จะขยับเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์อย่างเต็มที่ (Super-Aged Society)

จากฐานจำนวนประชากรสูงอายุที่นับวันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย ก็น่าจะเป็นโอกาสที่เปิดกว้างพอสมควรสำหรับสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุในปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี และเทรนด์สินค้าและบริการที่น่าสนใจก็มีความหลากหลาย

คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ 300,000 บาทขึ้นไป ซึ่งถือเป็นรายได้ที่เกินระดับเพียงพอต่อการดำรงชีพ น่าจะมีจำนวน 5 แสน 7 หมื่นคน หรือมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของผู้สูงอายุทั้งหมดที่คาดว่าจะมีจำนวน 13 ล้าน 6 แสนคน
ขณะที่ผู้มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 300,000 บาท มีสัดส่วนสูงถึง 95-96% อีกทั้งความต้องการของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปจากอดีต จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะต้องคัดสรรและพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างเหมาะสม

สำหรับเทรนด์ที่น่าสนใจ ได้แก่

  1. ผู้สูงอายุและลูกหลานมีแนวโน้มหันมาเน้นการดูแลสุขภาพเชิงรุก หรือการป้องกันและฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง เช่น อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สถานบริการดูแลผู้สูงอายุ
  2. สินค้าและบริการเพื่อสูงอายุยังต้องคำนึงถึงสรีระที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงวัย เช่น น้ำหนักเบา เปิดปิดง่าย ตัวหนังสือขนาดใหญ่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและเฝ้าระวัง ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารและรับส่งของ
  3. ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีเวลาว่างและยินดีจะจับจ่ายเพื่อเป็นการให้รางวัลแก่ตัวเองและใช้ชีวิตให้มีความสุข เช่น ธุรกิจทัวร์สำหรับผู้สูงวัย ฟิตเนสที่เน้นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย