ประเด็นน่าสนใจ
- นอกจากการรณรงค์ไม่ดื่มในงานเลี้ยงแล้ว ยังมีการรณรงค์ให้เหล้าเท่ากับแช่งด้วย
- สำหรับมาตรการดังกล่าวทำมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลในด้านบวกสถิติการให้เหล้าลดลงทุกปี
ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมกับ เครือข่ายเด็กและเยาวชนกว่า20 องค์ จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างค่านิยมส่งความสุขปีใหม่ “ให้ของขวัญปลอดภัย งานเลี้ยงไหนก็ไม่ดื่ม”
ภายในงานมีการเปิดตัวเพลงรณรงค์ “กุสุรา” จากนักเรียนวงตะโพนไทย และเพลง stopdrink จากวง DS.RU.BAND และเสวนาเปิดใจเยาวชนเหยื่อเมาแล้วขับและเยาวชนที่ก่อเหตุเมาแล้วขับจนถูกพิพากษาจำคุก
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่แต่งกายด้วยชุดซานตาครอส และชุดซานตี้ พร้อมเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องร่วมเดินรณรงค์ “ ให้ของขวัญปลอดภัย งานเลี้ยงไหนก็ไม่ดื่ม ” บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สถิติมอบของขวัญที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มลดลงทุกปี เห็นได้จากผลสำรวจ พฤติกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล
จากโครงการประเมินผลการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562” ของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAAB) พบว่า มีผู้ที่เคยได้รับของขวัญเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ร้อยละ 8.8 ซึ่งลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับผลสำรวจปี 2561 ที่มีอยู่ร้อยละ 11.3
นอกจากนี้ ในกลุ่มที่เคยได้รับ ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.9 ได้รับน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 33.6 ยังได้รับเป็นปกติ มีเพียงร้อยละ 1.7 เท่านั้นที่ได้รับมากขึ้น ดังนั้นการรณรงค์ในปี 2563 สสส. ยังคงต่อยอดการดำเนินงานเรื่องการ “ให้เหล้า เท่ากับแช่ง”
ด้วยการสร้างทัศนคติ ให้คนไทยมอบของขวัญปลอดภัย เลือกของขวัญสุขภาพที่มีคุณค่าทางใจและมีประโยชน์ด้านสุขภาพต่อผู้รับมากขึ้น เน้นการให้ของขวัญที่ดีที่สุดด้วยการไม่มีเหล้า
ขณะที่ นางสาวอนงค์ ทับทิมเทศ อายุ 31 ปี เหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า กว่า 16 ปี ที่ต้องกลายเป็นคนพิการ เพราะถูกคนเมาขับรถเก๋งพุ่งมาชนขณะขี่มอเตอร์ไซค์ ต้องนั่งวีลแชร์ไปตลอดชีวิต รักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 6 เดือน คู่กรณีไม่เคยมาเยี่ยม สู้คดีกว่าจะสิ้นสุด ส่วนเงินเยียวยาเทียบไม่ได้กับสิ่งที่สูญเสียไป
กว่า 2 ปี ที่ต้องเก็บตัวเงียบ ไม่คุยกับใคร ไม่อยากเจอใคร ใช้ชีวิตลำบาก เคลื่อนย้ายตัวเองไปรถเข็นยังทำไม่ได้ เคยคิดสั้นหลายครั้ง เพราะไม่อยากเป็นภาระพ่อ สุดท้ายกำลังใจจากพ่อที่ไม่เคยทิ้งเรา ทำให้ลุกขึ้นมาสู้นับ1ใหม่ได้อีกครั้ง
เริ่มจากฝึกทำกายภาพบำบัด ช่วยเหลือตัวเองได้เบื้องต้น อยากฝากถึง คนที่ดื่มแล้วขับ ให้ใช้สติบนพื้นฐานของความไม่ประมาท ทุกคนรักชีวิต ต้องคำนึงถึงเพื่อนร่วมทาง อย่ามาดับโอกาสดับฝันคนอื่น เพราะเมื่อมีแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง มักจบไม่สวย ” นางสาวอนงค์ กล่าว
ด้านนายนิรันดร ถาวงษ์กลาง อายุ 22 ปี เยาวชนที่เคยก่อคดีเมาแล้วขับ ได้รับโทษจำคุก ปัจจุบันเป็นอาสาสมัครรณรงค์ลดอุบัติเหตุกับเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า
เริ่มดื่มและสูบบุหรี่ตอนอายุประมาณ 14-15 ปี สาเหตุติดเพื่อน เห็นเพื่อนดื่มเพื่อนสูบ จึงทำตาม
พอจบ ม.3 ไม่ได้เรียนต่อ ชีวิตเริ่มมีอิสระตอนนั้นทำงานทั่วไป ใครจ้างทำอะไรทำหมด แต่เงินที่ได้แทนที่จะเก็บหรือให้แม่ กลับเอาเงินไปเลี้ยงเหล้าเพื่อนแทน ก่อนหน้านั้นเคยถูกตำรวจจับ เพราะเมาแล้วขับ โทษรอลงอาญา แต่ก็ยังขับรถประมาทเหมือนเดิม
ครั้งนั้นพอเจอด่าน ทำให้ตกใจ หักรถกลับย้อนศร ชนกับรถมอเตอร์ไซค์คู่กรณีอย่างรุนแรง คู่กรณีบาดเจ็บสาหัส ส่วนผมไหปลาร้าหัก และขาเป็นแผลเย็บ20เข็ม สิ่งที่ผมเสียใจ คือ ผมคิดและรู้สึกผิดอย่างมาก ที่ไม่ได้คำนึงถึง ความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนน มันเกิดจากความประมาททั้งนั้น
หลังจากเกิดเหตุ ชีวิตก็เปลี่ยนไป ผมเห็นน้ำตาแม่ทุกวัน คนในครอบครัววิ่งหาเงิน และผมก็สูญเสียงานที่ทำ เพราะต้องลางานไปเรื่องคดี ในที่สุดศาลมีคำตัดสินให้ผมติดคุกเป็นเวลา 9 เดือน เพื่อนร่วมวงดื่มที่ผมคิดว่าเป็นเพื่อนตาย ไม่เคยมาให้เห็นหน้าตั้งแต่เกิดเรื่องจนติดคุก นายนิรันดร กล่าว