ประเด็นน่าสนใจ
- วิธีป้องกันอันตรายปีใหม่ จากกองปราบปราม มี 9 ข้อ
- แนะอย่าใส่ หรือว่าของมีค่าในรถป้องโดนทุบกระจก
- ปฏิบัติตามกฎจราจรเคร่งครัด,กดเงินตามตู้ ATM ต้องทำตรงจุดที่มีไฟส่องถึง
- หากพบบุคคลต้องสงสัยเป็นมิจฉาชีพ โทรแจ้ง 1195 ทันที
กองบังคับการปราบปราม ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ กองปราบปราม แนะวิธีการป้องกันและระวังภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มมิจฉาชีพ มักจะแฝงตัวเข้ามาก่อเหตุอาชญากรรมในหลาย ๆ ช่องทาง และมีข่าวให้เห็นกันในทุกๆ ปี
โดยการเตรียมตัวเพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
- ไม่ประดับ สวมใส่ทรัพย์สินมีค่า หรือวางทรัพย์สินมีค่าไว้ในรถยนต์ เพราะอาจมีมิจฉาชีพ มาทุบกระจกหรืองัดประตูรถเพื่อขโมยทรัพย์สินได้
- สำรวจทรัพย์สินและล็อคประตู หน้าต่างบ้านหรือที่พัก ให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางไปต่างจังหวัด และเข้าร่วมโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ เพื่อความอุ่นใจ และความปลอดภัยต่อทรัพย์สินของมีค่าที่เก็บไว้
- หลีกเลี่ยงการใช้บริการตู้เอทีเอ็มที่อยู่บริเวณที่เปลี่ยว มีแสงสว่างไม่เพียงพอ และไม่มีกล้องวงจรปิด
- ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยตลอดการเดินทาง
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะขับรถ หรือโดยสารรถ และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางเดินรถ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
- ไม่ใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถ และไม่ขับขี่รถในขณะร่างกายอ่อนเพลีย
- ระมัดระวังในการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง หรือปล่อยโคมลอย และห้ามยิงปืนเพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
- กรณีพบเห็นบุคคลต้องสงสัยว่าจะเป็นคนร้าย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบโดยเร็ว
- กรณีพบเหตุด่วนเหตุร้าย หรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรเบอร์ฉุกเฉินตามกรณีเหตุด่วนเหตุร้ายนั้นๆ หรือสายด่วนกองปราบปราม 1195
นอกจากนี้ ‘กองปราบปราม’ ยังได้เตือนประชาชนให้ระวังมิจฉาชีพในรูปแบบดังต่อไปนี้ ที่ประชาชนมักจะตกเป็นเหยื่อในช่วงเทศกาลปีใหม่อยู่บ่อยครั้ง
1.แก๊งส่งของขวัญปีใหม่ – คนร้ายจะใช้วิธีแอบอ้างว่ามีคนให้นำของขวัญมาส่งให้ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นกระเช้าดอกไม้ ของกิน และบางครั้งก็ใช้กล่องกระดาษขนาดใหญ่ เพื่อจะได้ยกเข้าไปในบ้าน เมื่อคนในบ้านเผลอ คนร้ายก็จะทำการรื้อค้นของมีค่าแล้วหลบหนีไป หรือบางกรณีคนร้ายจะทำการปล้นทรัพย์ หรือชิงทรัพย์ด้วย
2.แก๊งสารพัดช่าง - คนร้ายจะแอบอ้างมาซ่อมแอร์ ท่อประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ หรือโทรทัศน์ โดยใช้คำพูดที่ทำให้คนในบ้านเชื่อและยอมให้เข้ามาในบ้าน จากนั้นคนร้ายจะทำทีไปซ่อมสิ่งต่าง ๆ ตามที่ได้แอบอ้าง และหลอกให้คนในบ้านไปดูแผงควบคุมไฟฟ้า หรือวาล์วเปิด-ปิดน้ำ จากนั้นคนร้ายจะทำการรื้อค้นของมีค่าแล้วหลบหนีไป หรือบางกรณีก็จะทำการปล้นทรัพย์ หรือชิงทรัพย์เช่นเดียวกัน
3.แก๊งชุบหรือล้างทองรูปพรรณ - คนร้ายจะขับรถไปตามหมู่บ้านหรือสถานที่สาธารณต่าง ๆ เพื่อรับชุบหรือล้างทองรูปพรรณให้สะอาดและดูใหม่ เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นเครื่องประดับในช่วงปีใหม่ โดยคนร้ายจะอาศัยช่วงที่เจ้าของทองเผลอเอาทองปลอมที่เตรียมไว้ขึ้นมาเปลี่ยน
4.แก๊งจัดงานเลี้ยง - มีพฤติกรรม 2 รูปแบบ คือ วิธีแรกคนร้ายแอบอ้างกับเจ้าของร้านค้าว่าจะจัดงานเลี้ยงโดยติดต่อให้ส่งของต่างๆ ไปไว้ตามสถานที่จัดงาน เมื่อทางร้านค้าส่งของไปยังที่นัดหมายแล้ว คนร้ายจะแอบขนของหลบหนีไป วีธีที่สองคือคนร้ายแอบอ้างกับผู้ที่ต้องการจะจัดงานเลี้ยงว่า สามารถสั่งอาหารได้ในราคาถูก ทำให้ผู้ที่จะจัดงานเลี้ยงหลงเชื่อยอมจ่ายเงินค่าอาหารให้กับคนร้าย แต่เมื่อถึงวันจัดเลี้ยงไม่มีการส่งอาหารมาให้แต่อย่างใด
5.แก๊งเรี่ยไรทำบุญ - คนร้ายจะออกตระเวนเดินเรี่ยไร บางกลุ่มปลอมตัวเป็นพระภิกษุสามเณรหรือเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิต่างๆ ออกรับบริจาคเงิน หรือสิ่งของ เพื่อนำไปทำบุญในโอกาสวันขึ้นปีใหม่
6.แก๊งใช้ธนบัตรปลอม - คนร้ายนำธนบัตรปลอมมาจับจ่ายใช้สอยตามตลาด หรือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่มีผู้คนจำนวนมาก ทำให้ผู้ขายสินค้า หรือให้บริการไม่ทันสังเกตว่าเป็นธนบัตรปลอม
7. แก๊งล้วงและกรีดกระเป๋า - คนร้ายกระทำกันเป็นขบวนการโดยเฉพาะที่ที่มีผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยหัวหน้าทีมจะเป็นคนคอยเล็งดูเหยื่อว่าคนไหนที่ดูทีท่าว่าน่าจะมีเงิน ก็จะส่งสัญญาณให้เพื่อนร่วมทีมเดินเข้าประกบเหยื่อ โดยหัวหน้าทีมจะเดินเข้าหาเหยื่อแล้วใช้กระดาษที่เตรียมมายกขึ้นบัง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งจะทำการกรีดกระเป๋าหรือล้วงเข้าไปหยิบทรัพย์สินในกระเป๋า โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว
8.แก๊งชวนเล่นการพนัน - คนร้ายจะชักชวนกลุ่มผู้โดยสารระหว่างรอรถ หรือระหว่างเดินทาง โดยเป็นกลุ่มผู้โดยสารที่ได้ตีสนิทไว้แล้ว ให้มาร่วมเล่นการพนัน ในรูปแบบต่างๆ เช่น กำถั่ว ตลับยาหม่อง หรือ ไพ่สามใบ โดยมีหน้าม้าทำทีว่าทายถูกอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อเหยื่อหลงเชื่อและทายบ้าง กลับเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก
9.แก๊งขายสินค้าราคาถูก - คนร้ายจะขับรถตระเวนขายสินค้าประเภทต่างๆ ไปตามหมู่บ้าน โดยโฆษณาชวนเชื่อว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงมาบริการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพจากโรงงานที่มีการเลหลังล้างสต็อก แต่แท้จริงแล้วเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือหมดอายุ
10.แก๊งมอมยา - คนร้ายจะผสมยานอนหลับลงในน้ำดื่ม กาแฟกระป๋อง หรืออาหาร จากนั้นจะทำทีเข้าไปตีสนิทชิดเชื้อกับผู้โดยสารที่อยู่ระหว่างรอรถ หรือผู้โดยสารที่อยู่บนรถด้วยภาษาท้องถิ่น เสมือนเป็นคนบ้านเดียวกัน และชักชวนให้ดื่มน้ำ หรือกาแฟที่เตรียมไว้ เมื่อเหยื่อหลับคนร้ายจะหยิบทรัพย์สินที่มีค่า แล้วหลบหนีไป
ทั้งนี้ ‘กองปราบปราม’ อยากให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ที่แฝงตัวมาในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพดังกล่าว และมิจฉาชีพในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา