คลื่นยักษ์สึนามิ สึนามิ สึนามิ 2574

รำลึก 15 ปี ‘สึนามิ’ มหาธรณีพิบัติรุนแรง ครั้งประวัติศาสตร์ของไทย

ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ถือเป็นวันที่เกิดโศกนาฏกรรมใหญ่ที่เกิดขึ้น 6 จังหวัดตอนใต้ของไทย ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่ม มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ความสูญเสียครั้งนั้นทำให้ศูนย์เตือนภัยสึนามิในแปซิฟิค ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก ‘สึนามิ’ เมื่อปี 2547 ย้อนกลับไปเมื่อปี…

Home / NEWS / รำลึก 15 ปี ‘สึนามิ’ มหาธรณีพิบัติรุนแรง ครั้งประวัติศาสตร์ของไทย

ประเด็นน่าสนใจ

  • เมื่อ 15 ปีที่แล้ว หรือปี พ.ศ.2547 เกิดเหตุการณ์ ‘คลื่นยักษ์สึนามิ’ พัดล่มประเทศไทย
  • เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2.3 แสนคน จาก 14 ประเทศ รอบชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย
  • เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 47

ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ถือเป็นวันที่เกิดโศกนาฏกรรมใหญ่ที่เกิดขึ้น 6 จังหวัดตอนใต้ของไทย ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่ม มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ความสูญเสียครั้งนั้นทำให้ศูนย์เตือนภัยสึนามิในแปซิฟิค ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก

‘สึนามิ’ เมื่อปี 2547

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2547 ช่วงเช้าเวลาประมาณ 07.58 ตามเวลาประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.47 มีรายงานเกิดเหตุแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย โดยศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้เกิดความเสียหายบนเกาะสุมาตรา และยังรับรู้ได้ในภาคใต้ของประเทศไทย

แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียครั้งนั้น มีความรุนแรงระหว่างแมกนิจูด 9.1 – 9.3 นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงเป็นอันดับที่ 3 ตามที่เคยวัดได้จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว ส่งผลทำให้เกิดการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดีย และทำให้เกิด ‘คลื่นสึนามิ’ พัดเข้าทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบของมหาสมุทรอินเดีย

เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบทำให้มีผู้เสียชีวิตใน 14 ประเทศ มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 2.3 แสนคน ได้แก่ อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ไทย โซมาเลีย พม่า มัลดีฟส์ มาเลเซีย แทนซาเนีย หมู่เกาะเซเชลส์ บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ เยเมน และเคนยา ซึ่งประเทศมาดากัสการ์ ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่จาก ‘สึนามิ’ ปี 47 ในประเทศไทย

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย ‘ประเทศไทย’ เป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามสรุปรายงาน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น 8,212 คน รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บ และสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีความเสียหายในด้านทรัพย์สิน ทั้ง บ้านเรือนของประชาชน โรงแรม ที่พักต่างๆ ร้านค้า ร้านอาหาร และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่ากว่าพันล้านบาท

โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานจุดที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด ได้แก่

ชายทะเลเขาหลักในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก ลำรู่ ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา รองลงมา คือ เกาะสิมิลัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา , หาดราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต , หาดกะรน ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต , หาดกมลา ต.กมลา อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต , หาดป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต , เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ และ บ้านหาดทรายขาว อ.สุขสำราญ จ.ระนอง

ศูนย์เตือนภัยสึนามิในแปซิฟิค

ศูนย์เตือนภัยสึนามิในแปซิฟิค ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นศูนย์การแจ้งเตือนภัยพิบัติระดับนานาชาติ ที่เฝ้าสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงระดับของน้ำ โดยจับสัญญาณเรด้าร์ ผ่านทุ่นกลางทะเล ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง

ด็อกเตอร์ ชาร์ล แมคคลีรี่ย์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยสึนามิในแปซิฟิค

ด็อกเตอร์ ชาร์ล แมคคลีรี่ย์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยสึนามิในแปซิฟิค กล่าวย้อนถึงเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ขณะนั้นมีการแจ้งเตือนสัญญานแผ่นดินไหวขึ้น แต่เทคโนโลยีที่ยังไม่ทันสมัย การแจ้งเตือนที่ไม่ทันการ แต่ภัยพิบัติครั้งนั้นก็ทำให้เกิดความตื่นตัว มีระบบการจัดการภัยพิบัติในแต่ละประเทศที่ดีขึ้น

การพัฒนาระบบเตือนภัยสึนามิ

ผ่านมา 15 ปี ความก้าวหน้าของระบบเตือนภัยพิบัติสึนามิในประเทศไทยและทั่วโลกถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างศูนย์ต่างๆ ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าพื้นที่ไหนเกิดแผ่นดินไหว และอาจจะทำให้เกิดสึนามิตามมา

ปัจจัยสำคัญที่จะยิ่งทำให้ภัยพิบัติทวีความรุนแรง คือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อันเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน เมื่อเกิดภัยสึนามิ ก็จะทำให้ปริมาณน้ำที่พัดเข้าสู่ชายฝั่งสูงขึ้น พลังของน้ำจะพัดถล่มรุนแรงกว่าเดิม

ผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติย้ำถึงสิ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอ คือภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโดแปซิฟิค ที่มีอัตราการเกิดภูเขาไฟถึงร้อยละ 75 การเกิดแผ่นดินไหวร้อยละ 90 ซึ่งนำไปสู่การเกิดสึนามิในหลายพื้นที่

ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้และสร้างองค์ความรู้ ในการเตรียมพร้อมรับมือให้ประชาชนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญในยามที่ภัยพิบัติมาเยือนอีกครั้ง