ประเด็นน่าสนใจ
- ทางการจีนส่งหนังสือแจ้งไทยเล็งลดการระบายน้ำเขื่อนจิ่งหง ช่วง 27-31 ธ.ค 62
- การลดระดับการระบายน้ำทำให้น้ำโขงมีระดับลดลงในช่วง 1- 4 ม.ค.63
- สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ และช่วยเหลือประชาชน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงฝ่ายไทย ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2562
เรื่อง แจ้งข้อมูลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหง ที่จะเริ่มปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อดำเนินการทดสอบอุปกรณ์ของโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ในวันที่ 27-31 ธ.ค 62 อัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
จะเริ่มลดการระบายน้ำลงในช่วงวันที่ 1- 3 ม.ค.63 จะค่อย ๆ ลดลงเป็น 800 -1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และลดลงต่ำสุดในวันที่ 4 ม.ค.62 ระบายน้ำอยู่ที่ 504 – 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หลังจากนั้นจะปรับเพิ่มการระบายน้ำจนกลับเข้าสู่สถานะการทำงานปกติ
ทั้งนี้ สทนช.ได้ออกหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ จ.เชียงราย เลย นครพนม หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมถึงแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า รับทราบสถานการณ์ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกรมประชาสัมพันธ์ในการให้ข้อมูลข่าวสารประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงรับทราบสถานการณ์
ซึ่งคาดว่าระดับน้ำโขงจะลดลงอีกในช่วงเวลาดังกล่าว แบ่งเป็น
- อ.เชียงแสน จ เชียงราย เริ่มมีผลช่วงวันที่ 2-4 ม.ค 63 ลดลงประมาณ 40 – 60 ซม. และในวันที่ 5 ม.ค.63 จะลดเพิ่มอีก 30 – 50 ซม.
- อ.เชียงคาน จังหวัดเลย ระดับน้ำเริ่มลดลงช่วงวันที่ 8-11 ม.ค.63
- อ.เมือง จ.หนองคาย ช่วงวันที่ 10-13 ม.ค.63
- อ.เมือง จ.บึงกาฬ ช่วงวันที่ 11 –14 ม.ค.63
- อ.เมือง จ.นครพนม ช่วงวันที่ 12-15 ม.ค.63
- อ.เมือง จ.มุกดาหาร ช่วงวันที่ 13-16 ม.ค.63
- อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ วันที่ 13-16 ม.ค.63
- อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ช่วงวันที่ 16-19 ม.ค. 63 ตามลำดับ
โดยจะมีระดับน้ำลดลง เฉลี่ย 40 – 60 ซม.เมื่อเขื่อนจิ่งหงลดการระบายน้ำ 1,000-800 ลบ.ม./วินาที และจะลดเพิ่มอีก 30-50 ซม.เมื่อลดการระบายน้ำที่ 504-800 ลบม./วินาที