ประเด็นน่าสนใจ
- คณะนักวิจัยฯ ทดสอบฉีดวัคซีนในหนูทดลองด้วยวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ร่วมกับโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด
- ซึ่งเป็นแอนติเจนที่แตกต่างกัน เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ที่อาจมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
- ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากกว่าโปรตีนหนาม
คณะนักวิจัยจากสถาบันการแพทย์นอร์ธเวสเทิร์น เมดิซิน (Northwestern Medicine) ได้ทดสอบฉีดวัคซีนในหนูทดลองด้วยวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ร่วมกับโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด (Nucleocapsid) ซึ่งเป็นแอนติเจนที่แตกต่างกัน เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ที่อาจมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
นักวิจัยสร้างภูมิคุ้มกันให้หนูทดลองด้วยวัคซีน 3 ชนิด ได้แก่ วัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ วัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด และวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนทั้งสองรวมกัน หลังจากหลายสัปดาห์ถัดมาให้หนูทดลองสัมผัสเชื้อไวรัสฯ ทางจมูก และตรวจวัดปริมาณเชื้อไวรัสฯ ในระบบทางเดินหายใจหรือระบบประสาทหลังผ่านไป 72 ชั่วโมง เพื่อตรวจจับการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน
นักวิจัยพบว่าโปรตีนนิวคลีโอแคปซิด ซึ่งเป็นโปรตีนที่จับกับอาร์เอ็นเอภายใน อาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากกว่าโปรตีนหนาม เนื่องจากนิวคลีโอแคปซิดเป็นหนึ่งในโปรตีนที่แสดงออกในระดับสูงและรวดเร็วที่สุดในไวรัสโคโรนา
พาโบล เพนาโลซา-แมคมาสเตอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา-ภูมิคุ้มกันวิทยา วิทยาลัยแพทย์ไฟน์เบิร์กแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (NU) ชี้ว่าโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาที่เรารู้จักกันดีนั้นอาศัยอยู่ภายนอกไวรัส ขณะที่โปรตีนนิวคลีโอแคปซิดอาศัยอยู่ภายใน ทั้งยังเป็นหนึ่งในโปรตีนที่แสดงออกในระดับสูงและรวดเร็วที่สุด ทำให้ทีเซลล์ (T-cell) สามารถตรวจหาการติดเชื้อได้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเขาเชื่อว่าสิ่งนี้ทำให้โปรตีนนิวคลีโอแคปซิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนในหนูทดลองได้
ข้อได้เปรียบอีกประการของการผสมผสานโปรตีนนิวคลีโอแคปซิดในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในภายภาคหน้าคือโปรตีนชนิดนี้มีความคล้ายคลึงมากกว่าในหมู่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ชนิดกลายพันธุ์ต่างๆ หรือแม้แต่ในกลุ่มไวรัสโคโรนาชนิดอื่นๆ
นอกจากนี้นักวิจัยยังรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่าผู้ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนนั้นมีอาการทางระบบประสาทในระยะยาวหรือไม่ โดยการศึกษาครั้งนี้พบหลักฐานการติดเชื้อไวรัสในสมองของหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนหนาม
“ผมกังวลเล็กน้อยที่พบไวรัสในสมองของหนูทดลอง เพราะสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ฉีดวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนหนามแล้ว แต่การติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนอาจทำให้ไวรัสเข้าสู่สมองได้” “เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นแค่ในหนูทดลองหรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป เรากำลังตรวจสอบเพิ่มเติม” เพนาโลซา-แมคมาสเตอร์กล่าว
พร้อมแสดงความหวังว่าวัคซีนที่ผลิตจากโปรตีนทั้งสองรวมกันนี้จะสามารถปกป้องสมองจากอาการทางระบบประสาทได้ดีขึ้น หากเกิดการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ การศึกษาฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารเซลล์ รีพอร์ต (Cell Reports) เมื่อวันอังคาร (17 ส.ค.) ด้านสถาบันการแพทย์นอร์ธเวสเทิร์น เมดิซิน จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์สุขภาพนอร์ธเวสเทิร์น เมโมเรียล (Northwestern Memorial HealthCare) และวิทยาลัยแพทย์ไฟน์เบิร์กแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ซึ่งดำเนินการวิจัย การสอน และการดูแลผู้ป่วย
ที่มา : Xinhua