ประเด็นน่าสนใจ
- ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบ คงระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และตามมาตรการเดิม วันที่ 18 – 31 ส.ค. 2564
- ยังคงห้ามออกนอกเคหสถาน 21.00-04.00 น. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด
- ผ่อนคลายกิจกรรมให้เปิดธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างได้
- เพิ่มการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโดยใช้ ATK ใน กทม. และปริมณฑล
วานนี้ (16 ส.ค.64) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยผ่อนคลายกิจกรรมให้เปิดธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างได้ เพิ่มการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโดยใช้ ATK ใน กทม. และปริมณฑล เน้นรัฐ/เอกชนทำงานที่บ้าน WFH
โดยยังคงห้ามออกนอกเคหสถาน 21.00-04.00 น. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัดถึงสิ้นเดือนสิงหาคม นี้ เห็นชอบจัดตั้งศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค.
ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลและศบค. กำลังเร่งควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ไทยที่ยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนให้ได้โดยเร็ว โดยได้เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ทั้งในการเร่งรัดการจัดหาวัคซีน ปูพรมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด การค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อเชิงรุกและนำผู้ป่วยทุกคนเข้าระบบการรักษาให้เร็วที่สุด
รวมถึงให้ผู้ป่วยติดเชื้อเข้าถึงยาให้ไวที่สุด การสร้างสถานที่กักตัวให้เพียงพอทั้งในประเภท Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ให้เพียงพอทุกพื้นที่ รวมทั้งดูแลแรงงานและโรงงานในรูปแบบ Bubble and Seal ใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) ในระบบ HI และ CI จัดระบบการส่งยา
อีกทั้งติดตามการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร และสูตรยาอื่น ทั้งของยาจากต่างประเทศ เช่น Remdesivir หรือ Oseltamivir หรือ Hydroxychloroquine เพื่อให้ผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียวเข้าถึงยาได้กว้างขวางที่สุด รวมทั้งให้มีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK อย่างโปร่งใส ชัดเจน ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการขยะติดเชื้อแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง คือ การทิ้งขยะติดเชื้อที่ถูกต้อง การจัดเก็บ และปลายทาง คือ กระบวนการทำลายขยะติดเชื้อ
ตั้งศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต
นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤต ตั้งศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต มีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเลขานุการ มีนายเสรี วงษ์มณฑา และนายเกษมสันต์ วีรกุล เป็นบรรณาธิการบริหาร เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสาร ศบค.
โดยขอให้ทุกฝ่ายเร่งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในรูปแบบคู่มือประชาชน คู่มือชุมชน ช่องทางติดต่อทั้งโทรศัพท์ สายด่วน ไลน์ แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ ของหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนทราบการปฏิบัติตัวตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ สิ่งที่สังคมต้องการ คือข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง มีความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ ทั้งเรื่องวัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ ยาสมุนไพร สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทุกหน่วยต้องแก้ข่าวบิดเบือน (Fake News) ให้ทันท่วงที
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า การบริหารสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นหัวข้อสำคัญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมการดำเนินงานของรัฐบาลทั้งมาตรการควบคุมและป้องกัน การจัดหาและกระจายวัคซีน ยา เวชภัณท์ มาตรการช่วยเหลือเยียวยา มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง และต้องมีการสื่อสารลงไปในระดับพื้นที่ด้วย
มาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ดังนี้
- การคงระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และตามมาตรการเดิม วันที่ 18 – 31 ส.ค. 2564
- การเพิ่มมาตรการ และการจัดการขององค์กร อาทิ การตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโดยใช้ ATK ใน กทม. และปริมณฑล จัดระบบการนำเข้าสู่ HI CI หรือรพ. -พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดยังคงเน้น WFH ต่อเนื่อง และพนักงานของ ภาครัฐ/เอกชน ที่ต้องมาปฏิบัติงาน ขอให้มีการคัดกรองด้วย ATK ทุกสัปดาห์ เพื่อให้มีความพร้อมก่อนการคลายล็อกดาวน์ -เตรียม Company Isolation สำหรับหน่วยงานที่มีพนักงานเกิน 50 คน -เร่งรัดการฉีดวัคซีน ให้มีความครอบคลุมของวัคซีนกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อย 80% ในกทม. อย่างน้อย 70% ใน 12 จังหวัด และอย่างน้อย 50 % ในพื้นที่อื่น
- ให้ประชาชน องค์กร สถานประกอบการ สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองได้ โดยรัฐสนับสนุนให้มีการใช้อย่างทั่วถึง และเน้นย้ำให้ประชาชน ใช้การป้องกันตนเองของประชาชนในทุกกรณี (Universal Prevention) รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่วมจัดทำ Thai Covid Pass เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ
- ปรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด โดยให้เปิดกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้
พร้อมทั้งเห็นชอบรับความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากต่างประเทศในการแลกวัคซีนโควิด 19 (AstraZeneca) ระหว่างรัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทย และเห็นชอบการรับมอบ Monoclonal antibody จากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเยอรมนี ของบริษัท Regeneron สำหรับการดูแลผู้ป่วยหนัก โดยมีการขึ้นทะเบียน อย.ไทย แล้ว
รวมทั้งเห็นชอบการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วม Phuket Sandbox เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7 + 7) ประกอบด้วยจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
โดยให้เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ สาธารณสุข ภายใต้มาตรการสาธารณสุขและการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีแผนรับมือหรือแผนชะลอหรือยกเลิกโครงการ รวมทั้งยังผ่อนผันการจัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และผ่อนผันการเคลื่อนย้ายในห้วงเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานด้วยหากมีความจำเป็นเร่งด่วน