ประเด็นน่าสนใจ
- สัมภาษณ์พิเศษ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกี่ยวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย ในปีนี้ ปีหน้า ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
- รายได้จากการท่องเที่ยว ถือเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งรายได้ส่วนนี้ ถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และไทย “ยังมีโอกาส” อีกเยอะ
- ตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้ น่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ในช่วงไตรมาสสุดท้าย
- ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น PM 2.5 นักท่องเที่ยวถูกทำร้าย รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในแถบสแกนดิเนเวีย
- มาตรการ 100เดียวเที่ยวทั่วไทย เป็นหนึ่งในฟันเฟืองการกระตุ้นการท่องเที่ยว
เป็นที่ทราบกันดีว่า “การท่องเที่ยว” เป็นธุรกิจที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศได้ แต่ก่อนหน้านี้ การท่องเที่ยวไทยเองก็เคยประสบมรสุมอยู่หลายระลอก
กรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวประเทศไทย ย้อนกลับไปถึงกรณีข่าวใหญ่ กรณีเรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นการท่องเที่ยวไทยได้ซบเซาลง เพราะนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่นิยมมาเที่ยวไทยเป็นอันดับ 1
นอกจากนี้เขยิบมาใกล้ขึ้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรณีมีคนร้ายเป็นชายไทย 2 คน บุกเข้าไปชิงทรัพย์นักท่องเที่ยวภายในห้องพัก และใช้อาวุธทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บ ก่อนจะหลบหนีไปพร้อมกับทรัพย์สินเป็นเงินสด
นอกจากปัญหาเรื่องอาชญากรรมแล้ว สภาพอากาศในประเทศไทยก็ประสบปัญหามลภาวะจาก ‘ฝุ่นพิษ’ ทั้งในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร ก็ประสบปัญหาฝุ่นพิษเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าว ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย และมาตรการ 4 ข้อในการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวไทย ดังนี้
สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยยังเป็นไปตามเป้า
การท่องเที่ยวในประเทศไทยถือว่าเป็นไปตามเป้า แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 จะมีตกเป้าไปบ้างแต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ค่อนข้างเป็นไปอย่างทะลุเป้าโดยเฉพาะช่วงในวันชาติจีนก็มีชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ซึ่งในช่วงสามเดือนสุดท้ายประเทศไทยยังต้องการนักท่องเที่ยวอีก 10,000,000 คนซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปได้ตามเป้า เนื่องจากเป็นในช่วงไฮซีซั่นของประเทศไทยและเป็นช่วงการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศจีนประเทศเกาหลี รวมไปถึงประเทศญี่ปุ่นและที่สำคัญประชาชนในประเทศทางฝั่งยุโรป มักจะหนีอากาศหนาวมาเที่ยวในประเทศไทย
สำหรับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่า จะเป็นไปตามเป้า โดยในช่วงของไตรมาสสุดท้ายนี้ คาดหมายว่า จะมีนักท่องเที่ยว ราว 10 ล้านคน ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ดังนั้น 10 ล้านคน เป็นตัวเลขที่เป็นไปได้
PM 2.5, ข่าวด้านลบต่างๆ ยังเป็นอุปสรรคที่ต้องแก้ไข
ยอมรับว่านักท่องเที่ยวประเทศในแถบสแกนดิเนเวียนส์ มีผู้มาท่องเที่ยวน้อยลงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสวีเดน เพราะประชาชนในประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้ในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องมลพิษ PM 2.5 จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวในแถบประเทศดังกล่าวเดินทางมาเที่ยวไทยลดน้อยลง นอกจากนี้การท่องเที่ยวไทยยังติดปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้ชาวต่างชาติ ท่องเที่ยวในประเทศไทยได้แพงมากยิ่งขึ้น
เมื่อกล่าวถึงปัญหาเรื่องการโกงค่าโดยสารของผู้ขับรถแท็กซี่ และการเกิดอาชญากรรมกรรมต่างๆที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย นายพิพัฒน์ ได้เปิดเผยถึงมาตรการในการแก้ปัญหาดังกล่าว 4 มาตรการในการเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับการท่องเที่ยวไทยได้แก่
- ความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
- ความสะอาด ซึ่งจะเน้นเรื่องของความสะอาดของอาหารเป็นหลัก
- ความยั่งยืน เมื่อมีการรับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติย่อมได้รับผลกระทบดังนั้นจึงต้องมีการหามาตรการในการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและทรัพยากรอย่างยั่งยืน
- การไม่เอารัดเอาเปรียบ โดยจะมีการมอบหมายให้ตำรวจท่องเที่ยวคอยสอดส่องดูแล ไม่ให้มีนักท่องเที่ยวถูกเอารัดเอาเปรียบและดูแลเรื่องของความปลอดภัยไปพร้อม ๆ กัน
มุ่งเป้าทำให้ทุกพื้นที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
นายพิพัฒน์ กล่าวถึง ทิศทางการท่องเที่ยวประเทศไทยในอนาคตว่า แต่ละเมืองต้องมีอัตลักษณ์ โดยจะให้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าไปดูในแต่ละพื้นที่ จากนั้นก็ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งหลังจากที่ในชุมชน 75,000 ชุมชนมีความพร้อมแล้ว ส่วนไหนที่ดี ก็จะมีการมอบหมายให้ ททท. ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา เมื่อมีการการสร้างสิ่งใหม่ที่นักท่องเที่ยวไม่เคยเห็นแล้ว ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ออกไปทั้งในไทย และทั่วโลกให้ได้รับรู้ว่าในไทยสามารถท่องเที่ยวได้ทุกเมือง ทุกตำบล
ซึ่งนอกจากนี้ นายพิพัฒน์ ยังได้ระบุถึงแนวทางในการทำงานเชิงรุกอีกด้วยว่า ในการผลักดันให้ทุกพื้นที่สามารถท่องเที่ยวได้นั้น ก็จะมีการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นอาสาสมัคร เพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโก่งราคาสินค้า การกระทำอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมกับนักท่องเที่ยว เนื่องจากหากเป็นคนในชุมชน ในพื้นที่ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ใครเป็นคนนอกพื้นที่และกำลังสร้างปัญหาให้กับชุมชน ซึ่งจะช่วยอุดช่องโหว่ในเรื่องของตำรวจท่องเที่ยว ที่มีจำนวนน้อย และไม่เพียงพอได้อีกด้วย
100 เดียวเที่ยวทั่วไทย มาตรการเชิงจิตวิทยา
สำหรับมาตรการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย เป็นลักษณะของการประชาสัมพันธ์ ในแง่ของการสร้างจิตวิทยา โดยยกตัวอย่างกรณีคนที่สามารถกดรับสิทธิดังกล่าวได้ ก็มักจะเดินทางไปเที่ยวกับเป็นกลุ่ม ซึ่งคนที่ได้รับสิทธิค่าเดินทาง หรือค่าที่พัก หรือค่าอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะมีการใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา ซึ่งจะต้องพยายามให้คนที่ได้รับสิทธิเดินทางไปเที่ยว เป็นการกระตุ้นให้ชาวไทยเที่ยวในเมืองไทยให้มากที่สุด
‘ทุกวันนี้คนไทยมองว่าเงินมันหายาก ผมเชื่อว่าคนไทยมีเงินออม แต่ไม่กล้าเอาเงินมาใช้ เพราะไม่รู้ว่าไปถึงปีหน้าจะมีเงินเหลือไว้ใช้หรือไม่
ก็พยายามกระตุ้นให้คนไทยเอาเงินออกมาใช้เถอะ ยังไงบัดนี้การเลือกตั้งได้จบไปแล้ว เรามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแล้ว ผมเชื่อว่าทุก ๆ อย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น
เพราะมีความมั่นคง มั่นใจจากชาวต่างชาติ ที่มองกลับมาเมืองไทย ที่วันนี้ไม่มีกำแพงอะไรที่จะมาขวางกั้นว่าห้ามมาเที่ยวประเทศไทย คุณสบายใจได้ว่า รัฐบาลไทยมาจากการเลือกตั้ง‘
นายพิพัฒน์ กล่าว
บริหารธุรกิจต้องมีกำไร บริหารกระทรวงฯ ต้องเปิดใจให้กว้าง คิดเรื่องส่วนตัวไม่ได้
การทำธุรกิจ ตนอยู่ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น เป็นการทำเพื่อตัวเอง เพราะในการบริหารธุรกิจยังไงก็ต้องให้ได้กำไร เพื่อตัวเองและผู้ถือหุ้น แต่เมื่อมานั่งบริหารงานในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มันเป็นเรื่องของส่วนรวมเป็นเรื่องของประเทศชาติจะมาคิดถึงเรื่องส่วนตัวไม่ได้ เราจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้รายได้ที่เข้ามา กระจายลงสู่พื้นที่ทุกพื้นที่ และกระจายไปสู่คนไทยทั้งประเทศให้ได้
แต่ที่สำคัญที่สุดในเรื่องการบริหารกระทรวงเราต้องคิดอย่างไรให้มันกว้างเปิดใจให้มากขึ้นไม่ใช่เพื่อตัวเองทำยังไงให้ประเทศชาติให้มากที่สุดซึ่งตอนนี้พวกเราก็คงจะทราบกันดีว่าวันนี้ปัญหาสงครามการค้าก็ดีไปจนถึงเบสิคของอียู ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะต้องทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
การท่องเที่ยวเป็นรายได้ที่จะเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำให้ดีที่สุดและทำให้ได้ตามเป้าหมาย นายพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย