ประเด็นน่าสนใจ
- จากกรณีเด็กวัย 15 ปี ทำกระทงหารายได้เสริม แต่โดนล่อซื้อจับลิขสิทธิ์เรียกเงิน 50,000 บาท บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ ได้ออกมาชี้แจง ไม่ได้มอบหมายให้ใครจับลิขสิทธิ์ พร้อมเตรียมดำเนินการทางกฎหมาย
- ล่าสุดทางด้านสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา เข้าช่วยเหลือเด็กหญิงแล้ว
ความคืบหน้ากรณีเด็กสาววัย 15 ปี ถูกล่อซื้อกระทงการ์ตูนแล้วเรียกเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งทางด้านตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ออกหนังสือชี้แจงผ่านโซเชียลว่า ไม่เคยมอบหมายให้ทำการจับกุม
ส่วนความคืบหน้าของคดีนี้ นายณพจน์ ผลเจริญ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทีมทนาย ได้เดินทางมา ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง เพื่อหาช่องทางช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่เด็กสาวอายุ 15 ปี ที่ตกเป็นเหยื่อถูกล่อซื้อกระทงละเมิดลิขสิทธิ์
เบื้องต้น ยังติดใจในประเด็นพฤติการณ์ล่อซื้อ และกรณีที่ทางตัวแทนลิขสิทธิ์มีการเรียกร้องค่าเสียหายจากเด็กสาว ก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ได้ ซึ่งขณะนี้สภาทนายความจังหวัดนครราชสีมากำลังดำเนินการหาหลักฐาน
ขณะที่ทางด้าน ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเปิดเผยว่า การจับกุมเด็กเมื่อไปโรงพักก็ต้องมีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพสอบสวนด้วย แต่ในคดีนี้ไม่มีขั้นตอนนั้น ซึ่งหากมองคดีนี้ดูแล้ว คนจับกุมมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารมอบอำนาจ ความผิดฐานกักขังหน่วง รวมไปถึงความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ จากการเรียกเก็บเงินอีกด้วย แม้จะคืนไปแล้วก็ตามแต่ว่าความผิดสำเร็จแล้ว
ส่วนประเด็นข้อสงสัย ที่ว่าตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ด้าน พันตำรวจเอก คเชนท์ เสตะปุตตะ ผู้กำกับการ สภ.เมืองนครราชสีมา เปิดเผย เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบจากหลักฐานใบรับรองการเป็นตัวแทนบริษัทที่นายประจักษ์ โพธิผล ผู้รับมอบอำนาจ นำมาแสดงกับเจ้าหน้าที่พบว่า เอกสารมีการระบุชื่อบริษัทชัดเจน
ซึ่งตำรวจขอเวลาในการตรวจสอบว่า เป็นของจริงหรือไม่ คาดว่าภายในวันพรุ่งนี้จะทราบรายละเอียดทั้งหมดหากเป็นเอกสารปลอม พนักงานสอบสวนก็จะแจ้งข้อหาฐานแจ้งความเท็จ ยืนยันว่า ตำรวจไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเงินค่าเสียหาย แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากเด็กสาววัย 15 ปี ผู้เสียหายที่ หรือผู้เสียหายรายอื่น ๆ ต้องการเข้าแจ้งความเอาผิดกับตัวแทนลิขสิทธิ์สามารถทำได้
ขณะที่ บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ ของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2560 โดยครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ได้ออกหนังสือ ชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกันว่า ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใดตามข่าวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทฯ ได้ทำการปรึกษาฝ่ายกฎหมายและมอบหมายให้ทนายความดำเนินการสืบหาความจริงในกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยบริษัทอยู่ระหว่างปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อเอาผิดผู้ที่แอบอ้าง
ส่วนทางด้านนางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเผยว่า ขั้นตอนต่อไปเจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องตรวจสอบว่าบุคคลที่อ้างเป็นตัวแทนนั้นได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายได้ อีกทั้งคู่กรณีที่เป็นเด็กยังสามารถฟ้องกลับเพื่อเอาผิดกับบุคคลที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่จับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ฐานข่มขู่กรรโชกทรัพย์จนเกิดความเสียหายแล้วได้ด้วย
ที่ผ่านมากรมฯ กำหนดให้บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้ให้อำนาจเองอยู่แล้ว เพียงแต่ให้มาขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้กับกรมฯ ซึ่งมีอายุ 1 ปีต้องมาขึ้นทะเบียนใหม่ทุกปี ป้องกันหากเกิดปัญหาและ อุดช่องโหว่ของคนคิดไม่ดีเข้ามาหาประโยชน์ตรงนี้แต่ปีที่ผ่านมากลับไม่มีใครมาขึ้นทะเบียน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อ ตัวแทนที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ดำเนินการลิขสิทธิ์ รายนี้ ก็พบว่าตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้ไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่ผู้สื่อข่าวในจังหวัดนครราชสีมาพบว่า นอกจากเด็กหญิงวัย 15 ปีรายนี้แล้ว ยังมีเหยื่อที่ออกมาเปิดเผยว่าเคยถูก ตัวแทนลิขสิทธิ์รายนี้ จับและเรียกรับเงิน อีก 4 ราย ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา คือ
- 16 ตุลาคม ผู้เสียหายถูกล่อซื้อลิขสิทธิ์ ก่อนเรียกรับเงิน 3 หมื่น บาท
- 27 ตุลาคม ผู้เสียหายถูกล่อซื้อลิขสิทธิ์ ก่อนเรียกรับเงิน 1 หมื่นบาท
- 31 ตุลาคม ผู้เสียหายถูกล่อซื้อลิขสิทธิ์ ก่อนเรียกรับเงิน 3 หมื่นบาท
- 1 พ.ย. นอกจากเด็ก วัย 15 ปี ที่ถูกเรียกรับ 5 หมื่นบาทแล้ว ยังมีอีกรายถูกเรียกเงิน 2 หมื่นบาทด้วย