พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า โดราเอม่อน

รู้ทันลิขสิทธิ์ โดราเอม่อนหมดอายุแล้วจริงหรือ? โดนล่อซื้อ! ฯลฯ

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีประเด็นการจับกุมกระทง โดยระบุว่า เป็นกระทงที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน จนนำไปสู่กระแสการไม่เห็นด้วยในพฤติกรรม “การล่อซื้อ” ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา สำหรับคดีในเรื่องของลิขสิทธิ์นั้น หลายฝ่ายยังคงเป็นข้อสงสัยกันอยู่ว่า แบบใดผิด-ไม่ผิดอย่างไร วันนี้ทีมงาน MThai จะสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องให้รับทราบกัน I.…

Home / NEWS / รู้ทันลิขสิทธิ์ โดราเอม่อนหมดอายุแล้วจริงหรือ? โดนล่อซื้อ! ฯลฯ

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีประเด็นการจับกุมกระทง โดยระบุว่า เป็นกระทงที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน จนนำไปสู่กระแสการไม่เห็นด้วยในพฤติกรรม “การล่อซื้อ” ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา

สำหรับคดีในเรื่องของลิขสิทธิ์นั้น หลายฝ่ายยังคงเป็นข้อสงสัยกันอยู่ว่า แบบใดผิด-ไม่ผิดอย่างไร วันนี้ทีมงาน MThai จะสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องให้รับทราบกัน

I.
ประเด็นว่าด้วย โดราเอม่อน

โดราเอม่อน ใช้ได้-ไม่ได้, ผิด-ไม่ผิด

ในประเด็นตัวการ์ตูน โดราเอม่อนนั้น มีหลายฝ่ายกล่าวถึงประเด็นตัวการ์ตูนตัวนี้ โดยอ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2551 ซึ่งระบุ ตัวการ์ตูนโดราเอมอน ได้มีการโฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2512 ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของไทย ได้บัญญัติไว้ว่า “ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุ 25 ปี นับแต่ที่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก”

สำหรับประเด็นของโดราเอม่อน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในประเด็นนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า งานที่มีลิขสิทธิ์นั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งตัวการ์ตูนส่วนใหญ่เป็นงานประเภท “ศิลปกรรม” ซึ่งหมายถึง

(1) งานจิตรกรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง

…..

(7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ตัวการ์ตูน “แอดถ้ำ” ซึ่งถือเป็นงานจิตรกรรม

สำหรับตามคำพิพากษาฎีกา ดังกล่าว ระบุถึง “ลิขสิทธิ์ในงานศิลปะประยุกต์” อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ “งานจิตรกรรม” หมายถึง สร้างสรรค์ขึ้นโดยการใช้ สีเส้นต่างๆ หรือพูดง่ายๆ คือ ตัวโดราเอม่อนที่ถูกวาดขึ้น เป็น งานจิตรกรรม

ชิ้นงานที่เรียกว่า “ศิลปประยุกต์” ซึ่งนำภาพตัวการ์ตูนจากงานจิตรกรรม มาสร้างชิ้นงาน

งานศิลปประยุกต์ คือการเอา ตัวการ์ตูนจากที่เป็นงานจิตรกรรมที่สร้างขึ้น มาทำเป็นสินค้าอื่นเพื่อขาย เช่น กระปุกออมสิน ปากกา ดินสอ เสื้อ ไม้บรรทัด ฯลฯ ดังนั้นสินค้าที่เกิดจากการดัดแปลงจากตัวการ์ตูน มาเพื่อขาย ก็จะมีอายุ 25 ปีตามที่โฆษณาครั้งแรก

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น

นาย ก. ยื่นขอลิขสิทธิ์ “ตัวการ์ตูน” (งานจิตรกรรม) จากเจ้าของสิทธิ์ ซึ่งนำมาผลิตเป็นแปรงสีฟันรูปโดราเอม่อน (งานศิลปประยุกต์) ดังนั้น ตัวของแปรงสีฟันรูปโดราเอม่อนนั้น จะมีอายุ 25 ปีนับแต่ “วันโฆษณาสินค้า” หรือเสื้อตัวนั้น

ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2551 นั้น มีรายละเอียดของกลางที่มีการอ้างถึงในคดีคือ ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าสตางค์ พัด พัดลม และที่คลุมผมอาบน้ำ ซึ่งนั่นเป็นศิลปประยุกต์ (คือการนำตัวการ์ตูนโดราเอม่อน มาทำเป็นสินค้าอื่น) ดังนั้น ชิ้นงานเหล่านั้นจึงมีอายุ 25 ปี นับตั้งแต่วันโฆษณา

ดังนั้นสรุปประเด็นโดราเอม่อน

I. ลิขสิทธิ์ในตัวการ์ตูน – ยังคงมีอยู่ เนื่องจากเป็นงานจิตรกรรม ซึ่งมีอายุคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และต่อไปอีก 50 ปีนักแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต

ดังนั้น ตัวการ์ตูนของโดราเอม่อน นั้น ยังคงอยู่ถึงปีพ.ศ. 2589 (อ.ฮิโรชิ ฟุจิโมะโตะ เสียชีวิตในปี 2539 )

II ลิขสิทธิ์ในศิลปประยุกต์ – ขึ้นอยู่กับสินค้าที่ได้มีการนำมาทำเพื่อจำหน่าย ว่าเริ่มโฆษณา เมื่อไหร่ ซึ่งตามฎีกาที่มีการอ้างถึงนั้น ระบุถึงศิลปประยุกต์ นั่นเป็นสินค้าที่มีการทำขายกัน ไม่ใช่ตัวการ์ตูน มีอายุ 25 ปีนับแต่มีการโฆษณา

ละเมิดลิขสิทธิ์ กับ เครื่องหมายการค้า ความเหมือนที่แตกต่าง

ในกรณีของตัวการ์ตูนอย่างโดราเอม่อนนั้น ไม่ได้มีแค่ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีเครื่องหมายการค้า “โดราเอม่อน” อีกด้วย

เครื่องหมายการค้า หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

โดยปรกติแล้ว สินค้าต่างไป มักมีทั้งสองส่วนคือ ลิขสิทธิ์ของตัวสินค้า, ตัวการ์ตูน ฯลฯ ส่วนเครื่องหมายการค้า คือตัวโลโก้ ชื่อสินค้า ยี่ห้อ ซึ่งเครื่องหมายการค้ามีอายุ 10 ปี แต่สามารถต่อได้เป็นครั้ง ครั้งละ 10 ปี ไปเรื่อยๆ

ไฟล์โลโก้ที่ปรากฎชื่อแบรนด์ สินค้า ต่างๆ มักจะถูกจดเป็นเครื่องหมายการค้า

การละเมิดที่มีการฟ้องร้องกันทั้งในส่วนของลิขสิทธิ์กันในปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นตัวการ์ตูนเอง และ เครื่องหมายการค้า ดังนั้นในการฟ้องร้องคดี จึงจำเป็นต้องพิจารณาแยกกัน ว่าเป็นการฟ้องในส่วนของการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือเครื่องหมายการค้า หรือทั้ง 2 เรื่อง

II.
ประเด็นการล่อซื้อ ผิด-ไม่ผิด

ล่อซื้อ โดยสั่งทำสินค้าผิดลิขสิทธิ์

ในกรณีที่มีการล่อซื้อ โดยการสั่งทำ หรือ สั่งให้ทำ หรือมีการว่าจ้าง ให้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ถือว่า ผู้สั่งการ เป็นผู้ร่วมกระทำผิด การล่อซื้อจึงไม่ถูกต้อง โดยในกรณีนี้ จำเลย หรือผู้ถูกฟ้อง ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ตนเองไม่ได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น แต่เป็นเพราะมีการสั่งให้ทำ ซึ่งกรณีนี้ ไม่ผิด

นาย ก. ผู้รับมอบอำนาจ จากผู้เสียหายว่าจ้าง นาย ข. (จำเลย) บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ

ซึ่งปรกติแล้ว นาย ข. ไม่ได้กระทำความผิด-ทำซ้ำแผ่นซีดีเพลงแต่อย่างใด แต่เป็นการที่ นาย ก. ผู้รับมอบอำนาจมาสั่งให้ดำเนินการ

คดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์

แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ว่าจ้างให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลย เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 9600/2554

ล่อซื้อ โดยผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ทำการละเมิดอยู่ก่อนแล้ว

ในทางกลับกัน หากจำเลย หรือผู้ที่ทำการละเมิด ได้ทำการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ก่อนแล้ว พูดง่ายๆ คือ ทำละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ก่อนที่จะมีการสั่งซื้อจากเจ้าของหรือผู้ถือลิขสิทธิ์ อยู่ก่อนแล้ว กรณีนี้ ถือว่า จำเลยมีความผิด เพราะกระทำการละเมิดด้วยตัวเอง โดยไม่ได้มีผู้ว่าจ้าง หรือสั่งให้ทำแต่อย่างใด

III.
จับ-ปรับ-ค่าเสียหาย จ่ายน้อย,จ่ายมาก

สำหรับในคดีลิขสิทธิ์ สิ่งที่ผู้ที่ถูกฟ้อง ควรรู้คือ คดีลิขสิทธิ์นั้น มีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

  • ทางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุก อายุความ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้ว่ามีการละเมิด
  • ทางแพ่ง มีโทษให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นตัวเงิน มีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่รู้การกระทำผิด

โดยส่วนมากแล้ว ในหลายๆ ครั้ง ผู้ฟ้อง มักจะเลือกฟ้องเป็นคดีอาญา เนื่องจากมีโทษจำคุก และผู้ถูกฟ้อง จะกลัวติดคุก จึงจะสามารถที่จะเจรจา ชดใช้กันในชั้นพนักงานสอบสวน หรือพูดง่ายๆ จบที่โรงพัก

ซึ่งจำนวนของคดีลิขสิทธิ์จำนวนไม่น้อย เลือกไกล่เกลี่ยและจบที่ชั้นสอบสวน ไม่ทันถึงชั้นศาล ข้อดีของการจบที่ชั้นสอบสวนคือ

  • ไม่ต้องเป็นคดีความให้เสียเวลา
  • ไม่มีประวัติเสียหาย

แต่สิ่งที่หลายคนไม่ทราบคือ จำนวนคดีที่ขึ้นศาลฯ จำนวนไม่น้อยถูกยกฟ้อง เนื่องจากพฤติกรรมการล่อซื้อที่ไม่ถูกต้อง เจ้าของสิทธิ์ไม่ได้อนุญาตให้กระทำการล่อซื้อ ฯลฯ

และแม้ว่า แพ้คดีในชั้นศาล ก็ไม่ได้หมายความว่จะติดคุกเสมอไป หากไม่ได้เป็นการกระทำผิดซ้ำ

นอกจากนี้ หลายต่อหลายคดี ค่าเสียหายที่ศาลตัดสินให้ชำระนั้น มีมูลค่าน้อยกว่าที่จ่ายกันในชั้นสอบสวน เนื่องจากศาลพิจารณาจากค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงนั่นเอง ไม่ใช่ตัวเลขที่ตั้งกันตามการประเมินจนเต็มเพดาน

จำเลยประกอบ กิจการร้านอาหารตามสั่ง ได้เปิดเพลงที่เป็นซีดีเพลงที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายภายในร้าน แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลย หากำไรจากการที่ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงแต่อย่างใด

การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษา ฎีกาที่ 8220/2553

ลิขสิทธิ์หมดอายุ ก็ยังใช้จับ-ปรับ

หลายกรณี ผู้นำจับได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิ์ ให้ดูแลลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ซึ่งเมื่อทำการตรวจสอบแล้ว พบว่า สิทธิ์ในการรับมอบอำนาจมานั้น “หมดอายุ” ไปแล้ว แต่ยังดำเนินการ จับกุมอยู่ ก็มี

ดังนั้น ในประเด็นของค่าเสียหาย หลายคดีที่จบลงที่ชั้นพนักงานสอบสวน ไม่ได้หมายความว่า มีความผิดจริงตามฟ้องแต่อย่างใด ดังเช่น ในกรณีของการจับกระทงการ์ตูนผิดลิขสิทธิ์ ทางเจ้าของสิทธิ์เอง ระบุว่า มิได้มีการสั่งให้ดำเนินการ, และพบว่า มีอีกหลายคนที่ได้มีการจ่ายค่าเสียหายไปแล้ว มากบ้างน้อยบ้าง

โจทก์ทำบทความขึ้นเผยแพร่ โดยรวบรวมข้อมูลโดยใช้ทักษะ การตัดสินใจและความวิริยะอุตสาหะในการนำข้อมูลมาเรียบเรียง ถือเป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

จำเลยทั้งหกร่วมกันตีพิมพ์บทควา เพื่อการประชาสัมพันธ์ในนิตยสารสินค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน ค่าเสียหาย 2,009,041.09 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 30,000 บาท

ศาลฎีกา พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กันยายน 2547) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 45,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11047/2551

นอกจากนี้ ในมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น แท้จริงแล้ว เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องจ่ายค่าเสียหายตามที่ผู้เสียหายเรียกร้อง หากแต่ศาลจะพิจารณาตาม “มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น” ซึ่งกรณีของกระทงการ์ตูน หากมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงไม่มาก (ค่าจ้างทำกระทงหลักพัน) เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น จึงอาจจะมิใช่ค่าเสียหายที่มีการตั้งขึ้นมาแต่อย่างใด

สรุปประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์

ในเรื่องของการละเมิดหรือไม่ละเมิดลิขสิทธ์นั้น ผู้ที่กระทำต้องตระหนักว่า ชิ้นงานใดก็ตาม ที่เรามิได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่นำผลงานผู้อื่นมาใช้งานนั้น ทุกชิ้นงานล้วนแล้วแต่มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

เมื่อบุคคลใด สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาด้วยความสร้างสรรค์ วิริยะอุตสาหะ ชิ้นงานเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีลิขสิทธิ์ตั้งแต่วินาทีที่ได้มีการสร้างสรรค์ขึ้นมา ดังนั้นควรจะแจ้ง ขออนุญาตกับเจ้าของผลงาน ชิ้นงานนั้นๆ อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาได้ในภายหลัง

ดังนั้น ในประเด็นที่เกิดขึ้นจึงอยากให้หลายฝ่ายตระหนักไว้ว่า

  • ชิ้นงานใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่มีลิขสิทธิ์
  • การจะนำงานที่มีลิขสิทธิ์เหล่านั้นไปใช้ ควรแจ้ง-ขอ ต่อเจ้าของสิทธิ์
  • กรณีที่มีการ “ขู่” จะติดคุก นั้น ส่วนใหญ่มีคดีเพียงบางส่วนที่ได้รับโทษตัดสินจำคุก หากไม่ได้เป็นการกระทำซ้ำ
  • กรณีที่มีการเรียกค่าเสียหาย สูงมากๆ สุดท้ายแล้ว ขึ้นอยู่กับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง โดยเป็นดุลพินิจของศาล

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การไม่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะเป็นเรื่องที่ดีในการช่วยส่งเสริมให้กับผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาด้วยนั่นเอง