จุฬา-ใบยา วัคซีนโควิด วัคซีนโควิดไทย

วัคซีนโควิดไทย “จุฬา-ใบยา” เริ่มทดสอบในคนเฟส 1 ต้น ก.ย.นี้

'อนุทิน' ตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบผลิตวัคซีนโควิดชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ โดยจุฬาฯ-ใบยา ความคืบหน้าต้นเดือนกันยายนเริ่มทดสอบในมนุษย์เฟส 1

Home / NEWS / วัคซีนโควิดไทย “จุฬา-ใบยา” เริ่มทดสอบในคนเฟส 1 ต้น ก.ย.นี้

ประเด็นน่าสนใจ

  • ’อนุทิน’ ตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบผลิตวัคซีนโควิดชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ โดยจุฬาฯ-ใบยา
  • ความคืบหน้าต้นเดือนกันยายนเริ่มทดสอบในมนุษย์เฟส 1
  • คาดไตรมาส 3 ปี 65 ผลิตใช้ได้ 60 ล้านโดสต่อปี สามารถปรับปรุงรองรับสายพันธุ์ใหม่ได้

วันนี้ (13 ส.ค. 64) ที่ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เยี่ยมโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืชโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เพื่อผลิตวัคซีนโควิด 19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ

นายอนุทินกล่าวว่า วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เริ่มพัฒนามาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 ทดสอบในหนูทดลองและลิง พบว่าช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่เนื่องจากยังไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนด้วยพืชในประเทศ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงสนับสนุนงบประมาณ 160 ล้านบาท ให้แก่จุฬาฯและบริษัทใบยาในการปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและชีววัตถุ

โดยใช้พืช ใช้เวลา 8 เดือนในการปรับปรุงบนพื้นที่ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ขนาด 1,200 ตารางเมตร ผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนในขั้นต้น เริ่มตั้งแต่เพาะเลี้ยงแบคทีเรียพาหะสารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ เพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน และเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีนสำหรับใช้ผลิตวัคซีน ก่อนนำส่งไปทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ ที่บริษัท คินเจ่น ไบโอเทค จำกัด จากนั้นผสมและแบ่งบรรจุวัคซีนที่สถานเสาวภาต่อไป

ทั้งนี้ วัคซีนจุฬา-ใบยาจะเริ่มต้นทดสอบในมนุษย์ เฟสที่ 1 ช่วงต้นเดือนกันยายน เบื้องต้นประมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าในไตรมาส 3 ของปี 2565 สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ฝีมือคนไทยในประเทศเองได้มาก 1-5 ล้านโดสต่อเดือน หรือราว 60 ล้านโดสต่อปี

“วันนี้ได้มาให้กำลังใจทีมไทยแลนด์ ซึ่งเป็นการวิจัยพัฒนาวัคซีนสัญชาติไทยโดยบริษัทของคนไทย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จโดยเร็ว เพราะถือเป็นนวัตกรรม องค์ความรู้ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศ ที่สำคัญคือวัคซีนนี้สามารถปรับปรุงรองรับสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ทันที ขณะนี้กำลังดำเนินการใน 10 สายพันธุ์ หากสำเร็จ อนาคตอาจจะเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สามารถใส่หลายสายพันธุ์ลงไปในวัคซีนได้ ทำให้การป้องกันก็น่าจะสูงขึ้น” นายอนุทินกล่าว

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข