กรมการแพทย์ ภาวะเครียด สังคม สุขภาพ อาการป่วย โควิด-19 ไฮเปอร์เวนติเลชั่น

แพทย์เตือน ความเครียด-กดดัน ทำให้เกิดอาการ “ไฮเปอร์เวนติเลชั่น”

ลักษณะอาการ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ชาตามร่างกาย มือเท้าจีบเกร็ง

Home / NEWS / แพทย์เตือน ความเครียด-กดดัน ทำให้เกิดอาการ “ไฮเปอร์เวนติเลชั่น”

ประเด็นที่น่าสนใจ

  • กรมการแพทย์ เตือนภาวะเครียด วิตกกังวล หรือกดดันหนักจากช่วง COVID-19 ส่งผลให้เกิดอาการไฮเปอร์เวนติเลชั่น
  • ลักษณะอาการ คือ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ชาตามร่างกาย โดยเฉพาะริมฝีปากเเละปลายมือปลายเท้า มือเท้าจีบเกร็ง
  • เมื่ออาการผู้ป่วยกำเริบ ให้ใช้กรวยกระดาษครอบปิดปากเเละจมูก เเละทำให้มั่นใจว่าอาการนี้เกิดจากความเครียด

กรมการแพทย์ เตือนภาวะเครียด วิตกกังวล หรือกดดันหนักจากช่วง COVID-19 ส่งผลให้เกิดอาการไฮเปอร์เวนติเลชั่น

วันนี้ (11 ส.ค. 64) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทำให้หลายคนมีภาวะเครียด และส่งผลกระทบทางด้านร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ

นอกจากนี้ มีอีกหนึ่งอาการทางกายที่เกิดขึ้นได้บ่อยแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักคือ “กลุ่มคนที่มีอาการไฮเปอร์เวนติเลชั่น” มักจะต้องเดินทางไปรับบริการฉุกเฉินอยู่เสมอ และสร้างความกังวลใจต่อครอบครัว คนรอบข้างที่ไม่เข้าใจในสภาวะของโรค อาจจะนำไปสู่ปัญหาด้านคุณภาพชีวิต และสุขภาพจิตภายในครอบครัว และอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้

ลักษณะอาการ “ไฮเปอร์เวนติเลชั่น”

ฝ่ายนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การหายใจลึกและเร็วเกินกว่าความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดการขับออกของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางลมหายใจเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดภาวะความเป็นด่างในเลือดเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดอาการรู้สึกหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ชาตามร่างกาย โดยเฉพาะริมฝีปากเเละปลายมือปลายเท้า มือเท้าจีบเกร็ง แต่จะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นอัมพาต

อย่างไรก็ตาม อาการนี้มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย พบมากในผู้ที่มีจิตใจไม่มั่นคง บุคลิกภาพไม่แข็งแรง หรือไม่หนักแน่น เมื่อมีเรื่องตกใจ ขัดใจ โมโห ฉุนเฉียว ก็จะเกิดอาการกำเริบได้ทันที

การรักษาเบื้องต้นเมื่ออาการผู้ป่วยกำเริบ

สำหรับการรักษาโดยทั่วไปมักเป็นการให้ผู้ป่วยหายใจให้ช้าลง หรือให้หายใจในวัสดุอุปกรณ์ที่ครอบปิดปากและจมูก เช่น กรวยกระดาษ การให้ความมั่นใจว่าอาการป่วยนี้เกิดจากความเครียด ไม่ใช่อาการของโรคหัวใจหรือโรคทางกายอื่นๆ และไม่มีอันตรายถึงชีวิต

หากยังไม่ทุเลา อาจจะมีการให้ยาคลายกังวลแก่ผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยและญาติอาจจะรู้สึกตกใจ โดยความตกใจของผู้ป่วยและญาตินั้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการกำเริบหรือเป็นยาวนานขึ้น

เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการหายใจเร็วเกินไป เมื่อเกิดอาการควรตั้งสติไม่ตกใจต่ออาการที่เกิดขึ้น เพราะอาการไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง พยายามควบคุมการหายใจให้ช้าลง ถ้าไม่สามารถพยายามให้หายใจช้าลงได้ อาจใช้ถุงกระดาษ หรือพับกรวยกระดาษครอบปากและจมูกไว้ เพื่อให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนสู่กระแสเลือด ช่วยให้ภาวะกรดด่างคืนสู่สมดุล

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ป่วยไม่ได้แกล้งทำ ตัวผู้ป่วยต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของสุขภาพจิต ฝึกการเผชิญปัญหาต่างๆ ฝึกวิธีการหายใจและการผ่อนคลาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการบ่อยๆ หรือเป็นมากขึ้น อาจจะต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อพิจารณากระบวนการรักษาทั้งการให้ยาและการทำจิตบำบัด ซึ่งในบางครั้งอาจจะต้องทำการรักษาแบบกลุ่มหรือครอบครัวบำบัดร่วม