โรคเบาหวาน

โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกและประเทศไทย

ที่ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสรา้งเสริมสุขภาพ (สสส.) ซ.งามดูพลี ถ.พระราม4 ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ,นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร…

Home / NEWS / โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกและประเทศไทย

ประเด็นน่าสนใจ

  • คนที่ป่วยเป็นเบาหวานตั้งแต่วัยเด็ก จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด แต่อุปกรณ์ไม่ครอบคลุม เพราะมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 13,000 บาทต่อปี ยากต่อการเข้าถึงหากครอบครัวของผู้ป่วยฐานะยากจน
  • โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกและประเทศไทย (สำหรับโรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต)

ที่ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสรา้งเสริมสุขภาพ (สสส.) ซ.งามดูพลี ถ.พระราม4 ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ,นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ,

ดร.นพ.ไพโรจน์เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และรองประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง

ร่วมแถลงข่าว “วันเบาหวานโลก 2562 World Diabetes Day Thailand 2019 Together Fight Diabetes” ในวันที่ 14 พ.ย 62 นี้

พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า เยาวชนที่เป็นเบาหวานตั้งแต่วัยเด็กเล็กและวัยเรียน จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้

แต่อุปกรณ์ดังกล่าวไม่ครอบคลุมอยู่ในรายการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 13,000 บาทต่อปี ทำให้ครอบครัวของผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์นี้ได้

หลายหน่วยงานจึงได้ร่วมมือจัดกิจกรรม เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ที่มีอยู่ราว 100,000 คน ในประเทศไทย

ด้านเครือข่ายคนไทยไร้พุงก็ปล่อยกิจกรรม Active Meeting Challenge ภารกิจท้าคุณขยับ ที่ขอท้าให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุข สมาคม ชมรม และกลุ่มเพื่อสุขภาพต่างๆ เข้าร่วมการประกวดคลิปออกกำลังกายระหว่างพักการประชุมหรือการปฏิบัติงาน

เพื่อกระตุ้นให้คนในองค์กร ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน และตระหนักถึงภัยอันตรายของการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรค NCDs รวมถึงโรคเบาหวาน

กิจกรรมนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็น Healthy Organization หรือองค์กรสุขภาพดี โดยคลิปวิดีโอที่ส่งเข้าประกวด และผ่านการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จะถูกนำมารวบรวมเป็นชุดต้นแบบให้กับองค์กรต่างๆ

รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุข นำไปใช้และเผยแพร่ให้เกิดการปฏิบัติในวงกว้าง สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ม.ค. 2563 สนใจเข้าร่วมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง email : raipoong@gmail.com

ด้าน ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกและประเทศไทย โดยทั้งโลกมีผู้เสียชีวิตปีละมากกว่า 40 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด

และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา สามารถคำนวณมูลค่าความสูญเสียถึง 47 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 หากไม่มีการดำเนินการแก้ไข ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 400,000 คนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 76 ของการเสียชีวิตทั้งหมด

และครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียร้อยละ 2.2 ของ GDP ต่อปี ซึ่งโรคเบาหวาน เป็น 1 ใน 5 โรค NCDs ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย อันมีสาเหตุจากพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกายไม่เหมาะสม การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable diseases: NCDs ที่คุกคามประชากรทั่วโลก มีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ 5 ปัจจัย ได้แก่ การรับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ

การมีกิจกรรมทางกายไม่เหมาะสม การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ได้รับมลพิษทางอากาศ นำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง มะเร็ง ระบบทางเดินหายใจ เบาหวาน และ โรคทางจิตเวช ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในกลุ่มประชากรเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว (10-19 ปี) รวมทั้งผู้ใหญ่วัยต้น (Emerging adults)

ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ 20-35 ปี เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก การศึกษาในหลายประเทศ พบว่าสัดส่วนความชุกของเบาหวานชนิดที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับความชุกของโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของ IDF Atlas พบว่า ความชุกของเบาหวานทั่วโลกในกลุ่มผู้ใหญ่วัยต้น (อายุ 20-39 ปี) เพิ่มจาก 23 ล้านคนในปี 2543 เป็น 63 ล้านคนในปี 2556 โดยกลุ่มประเทศที่มีอัตราความชุกเพิ่มขึ้นรวดเร็ว อยู่ในแถบแอฟริกา แปซิฟิกตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงมุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในทุกช่วงวัย โดยการพัฒนาและจัดการความรู้ สนับสนุนให้เกิดการจัดสิ่งแวดล้อมทางกฎหมายและทางสังคม

อาทิ การผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มปัจจัยเสริมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะและการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ใช้การสื่อสารการตลาดเพื่อรณรงค์ปรับเปลี่ยนค่านิยมวัฒนธรรม ขยายแนวคิดความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เหมาะสมตามกลุ่มวัย ตั้งแต่วัยเด็ก เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงวัย ตลอดจนประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้พิการ กลุ่มสถานะบุคคล

เพื่อขับเคลื่อนให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ ขับเคลื่อนงานลงสู่พื้นที่เป้าหมาย อาทิ สถานประกอบการ สถานศึกษา ชุมชน ครอบครัว อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของภาคีภายใต้กลไกที่หลากหลาย เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

โรค NCDs คืออะไร

  • โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย จึงอาจจัดว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังได้

ตัวอย่างของโรค NCDs

  • โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคมะเร็งต่างๆ
  • โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคอ้วนลงพุง
  • โรคตับแข็ง
  • โรคสมองเสื่อม

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก ศูนย์จัดการความรู้ผู้ป่วย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์