ประเด็นที่น่าสนใจ
- IPCC เปิดเผย รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงวิกฤตเลวร้าย หากไม่ลดการการปล่อยก๊าซฯ โลกอาจจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.0 องศา
- เลขาธิการยูเอ็น เเจงรายงานฉบับนี้ คือ”รหัสเตือนภัยระดับสูงสุดสำหรับมนุษยชาติ”
- คาดการณ์ว่า พายุฝนและภัยแล้งเพิ่มความรุนแรงกว่าเดิม รวมถึงธารน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกอาจละลายหายไป
- การเกิดคลื่นความร้อนในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ คร่าชีวิตไปหลายร้อยคน และบราซิลกำลังประสบภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 91 ปี
…
IPCC เปิดเผย รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึงวิกฤตเลวร้าย หากไม่ลดการการปล่อยก๊าซฯ โลกอาจจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.0 องศา
เอเอฟพี เปิดเผยว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผยรายงานวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเฉพาะกิจเพื่อเตือนว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะโลกร้อนที่อันตรายอย่างยิ่งโดยเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์
นักวิทยาศาสตร์กล่าวเตือนในรายงานว่า ระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศสูงเพียงพอที่จะรับประกันจุดแตกหักของสภาพภูมิอากาศภายในไม่กี่ทศวรรษ หากมิใช่ในหลายศตวรรษข้างหน้า และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก็เกิดให้เห็นแล้วในยุคปัจจุบัน ทั้งคลื่นความร้อน, พายุเฮอริเคนที่ทรงพลัง และสภาพอากาศสุดขั้วต่างๆ ที่เป็นไปได้ว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย
รายงานบอกอีกว่า ถึงแม้ภาวะโลกร้อนจะถูกชะลอไว้ได้ แต่เวลาก็ใกล้จะหมดลงแล้ว ถ้าโลกเราลดการปล่อยก๊าซลงได้อย่างฮวบฮาบ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็จะยังคงเพิ่มขึ้น 1.5 องศาภายในปี 2583 และอาจถึง 1.6 องศา ภายในปี 2603 แต่หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซฯ แล้วยังปล่อยให้เป็นไปตามที่คาดการณ์ โลกเราจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.0 องศาภายในปี 2603 และ 2.7 องศาภายในสิ้นศตวรรษนี้
ทั้งนี้ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 0.5 องศา จะเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของความร้อนสุดขั้วและปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก รวมไปถึงความแห้งแล้งในบางภูมิภาค และเนื่องจากอุณหภูมิมีความผันผวนทุกปี นักวิทยาศาสตร์จึงใช้มาตรวัดภาวะโลกร้อนด้วยค่าเฉลี่ยทุก 20 ปี
อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ คือ”รหัสเตือนภัยระดับสูงสุดสำหรับมนุษยชาติ” ถือเป็นกริ่งสัญญาณเตือนที่ดังหูดับ และเป็นตะปูตอกฝาโลงสำหรับพลังงานจากถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อนที่พวกมันจะทำลายโลกใบนี้
วิกฤตที่คาดการณ์ว่าจะเกิดจากภาวะโลกร้อน
- คลื่นความร้อนรุนแรงที่จะเกิดขึ้นทุก 50 ปีนั้น ได้เกิดถี่ขึ้นเป็นทุก 10 ปี อันเนื่องจากภาวะโลกร้อน ในขณะที่พายุฝนและภัยแล้งก็เพิ่มความถี่และความรุนแรงขึ้นเช่นกัน ตลอดจนฤดูไฟป่าก็จะยาวนานและรุนแรงกว่าเดิม
- ธารน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกอาจละลายหายไปทั้งหมดภายในปี 2050 เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศมากที่สุด
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น “เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์อย่างชัดแจ้ง” และทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกปัจจุบันสูงกว่าของยุคก่อนอุตสาหกรรมแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส และจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่านี้อีก 0.5 องศาเซลเซียส ถ้าไม่การลดผลกระทบจากมลภาวะในชั้นบรรยากาศ
- IPCC กล่าวว่าก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ได้ปล่อยออกมาแล้วนั้นส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากความร้อนและน้ำแข็งละลาย ซึ่งจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลาหลายพันปี
- นอกจากนี้ IPCC ยังเชื่อมั่นว่าพื้นที่เกษตรกรรมหลายแห่งทั่วโลกจะประสบภัยแล้งหรือพายุฝนมากขึ้น รวมถึงพื้นที่บางส่วนของอาร์เจนตินา ปารากวัย โบลิเวีย และบราซิล ซึ่งเป็นแหล่งปลูกถั่วเหลืองและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ รายใหญ่ระดับโลก
- ผลกระทบบางอย่างเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้แล้ว อย่างเช่นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หรือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก แม้ว่ามนุษย์จะพยายามควบคุมคาร์บอนไปนับร้อยหรือพันปีก็ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้
รายงานจากนักวิทยาศาสตร์
ทางฝ่ายนักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้ว อย่างเช่น การเกิดคลื่นความร้อนในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคนในเดือน มิ.ย. และบราซิลกำลังประสบภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 91 ปี
พร้อมทั้งกล่าวเตือนอีกว่า โลกที่ร้อนขึ้น 1.5 องศา อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งก่อผลลัพธ์ขั้นหายนะ เช่น อากาศร้อนถึงขั้นที่ปลูกพืชผลไม่ได้ หรือคนสามารถตายได้เพียงแค่ออกไปอยู่กลางแจ้ง
เปาโล อาร์ทาโซ นักสิ่งแวดล้อมผู้นำในการเขียนรายงานกล่าวว่าคลื่นความร้อนในแคนาดา ไฟไหม้ในแคลิฟอร์เนีย น้ำท่วมในเยอรมนี น้ำท่วมในจีน ภัยแล้งในภาคกลางของบราซิล ล้วนแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างหนัก
คารอลินา เวร่า นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศและผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าวอีกว่าโอกาสที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันยิ่งมีมากขึ้น อย่างเช่นการเกิดความร้อนจัด ภัยแล้ง และลมแรงพร้อมกันซึ่งส่งผลให้เกิดไฟป่า
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์การคาดการณ์ในรายงานฉบับนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสอย่างจริงจัง
ที่มา: AFP , ipcc