ประเด็นน่าสนใจ
- เกิดคดี ‘แชร์ลูกโซ่แม่มณี’ แชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่ ที่มีการใช้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า 93 เปอร์เซ็นต์ มาจูงใจให้ผู้เสียหายร่วมลงทุน
- มีผู้เสียหายหลายพันคน และมีมูลค่าความเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท
- คดีแชร์ลูกโซ่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะจากประวัติศาสตร์พบว่าเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งนำเอาผลกำไรที่สูงมาจูงใจในการลงทุนทั้งสิ้น
สรุปคดี ‘แชร์แม่มณี’
หลังจากเกิดคดีใหญ่ในคดี ‘แชร์ลูกโซ่แม่มณี’ โดยมี น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช หรือ เดียร์ เน็ตไอดอล และแม่ค้าขายตุ๊กตาออนไลน์ อายุ 28 ปี แม่ข่ายที่ได้ชักชวนผู้คนมาลงทุน โดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนกว่าร้อยละ 93 จากเงินลงทุน
ก่อนหน้านี้เธอได้ถูกลูกแชร์ซึ่งขณะนี้มีจำนวนพุ่งสูงไปกว่า 3,800 ราย แจ้งจับหลังไม่ยอมจ่ายเงินลงทุนของเหล่าบรรดาลูกข่าย และถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวได้แล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมาทั้งนี้ในคดีดังกล่าว มีมูลค่าเสียหายพุ่งสูงไปถึงหลักหมื่นล้านบาท โดยเหยื่อแต่ละรายร่วมลงทุนไปกว่าหลักแสนถึงหลักล้านบาท
สรุปไทมส์ไลน์คดี ‘แชร์แม่มณี’
-
25 ตุลาคม 2562
แม่มณี ได้ถ่ายคลิปพร้อมทนายความ ออกมาชี้แจงไปยังลูกแชร์ ระบุว่าที่ตนไม่สามารถคืนเงินลูกแชร์ได้เนื่องจากบัญชีถูกอายัด หลังมีข่าวแชร์แม่มณีวงแตก โดยในวันนี้ เธอได้เช็คอินที่บ่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเธอได้ปิดโทรศัพท์และไม่สามารถติดตามตัวได้
-
26 ต.ค. 2562
เฟซบุ๊ก PN Parkbom ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราว กรณี น.ส.จุฑาทิพย์ นิ่มนวล หรือ มะนาว ที่เคยปรากฎเป็นข่าวเจ้าบ่าวหนีงานแต่งเปิดให้คนมาออมเงินกินดอก ในรูปแบบออมเงินผ่านทางกลุ่มไลน์ โดยสร้างแรงจูงใจ ในการโอนเงินฝากตรงกับเธอ จะได้ดอกเบี้ยสูงถึง 50% ในระยะฝาก 1 เดือน ได้คืนเต็มจำนวนทั้งต้นและดอกไม่มีหัก
โดยในช่วงแรกได้มีการจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ ทำให้มีคนสนใจมากขึ้น ๆ แต่ต่อมากลับมาการเงียบหายและเริ่มไล่บล็อกผู้ที่นำเงินมาลงทุน โดยพบในเวลาต่อมาว่า เจ้าตัวเป็นแม่ทีมให้กับ ‘แม่มณี’ อีกทอดหนึ่ง
-
28 ต.ค. 2562
ผู้เสียหายในคดีแชร์แม่มณีกว่า 200 คน นำหลักฐานมามอบให้ผู้อำนวยการกองธุรกิจการเงินนอกระบบ ดีเอสไอ
-
29 ต.ค. 2562
ผู้เสียหายหลายร้อยราย เข้าแจ้งความกับตำรวจ บก.ปอศ. หลังถูก แม่มณี หลอกให้ลงทุนออมเงิน ในวันนี้เองกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้เปิดให้กลุ่มผู้เสียหายกรณีแชร์แม่มณี ลงทะเบียนแจ้งเหตุผ่านระบบคิวอาร์โค้ด โดยหลังจากเปิดให้ลงทะเบียนภายในวันเดียว มีผู้ลงทะเบียนไปแล้วกว่า 1,600 ราย
ในวันเดียวกัน มะนาวได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านรายการโหนกระแส ทางช่อง 3 ถึงการทำธุรกิจร่วมกับ แม่มณี ซึ่งในตอนแรกแม่มณีเป็นลูกค้าของตน และได้มีการชักจูงให้ลงทุนในรูปแบบเงินออม โดยให้ดอกเบี้ย 93 เปอร์เซ็นต์ ในตอนแรกตนใช้เงินตัวเองฝากเองก่อน หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นกินเปอร์เซ็นต์และหักเงินส่วนต่างจากผู้ออมรายอื่น ๆ
-
29 ต.ค. 2562
ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ แม่มณี ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์
-
30 ต.ค. 2562
ผู้เสียหายแชร์ “แม่มณี” ยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมให้เป็นคดีพิเศษ
-
31 ต.ค. 2562
เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นตรวจค้นอาคารพาณิชย์ 3 คูหาของแม่มณี โดยบริเวณชั้น 3 ที่มีลักษณะเหมือนร้านทอง และพบว่าทองทั้งหมดเป็นทองปลอมโดยตำรวจคาดว่า เป็นการตกแต่งห้องเพื่อจัดฉากใช้ในการไลฟ์สดเพื่อหลอกลวงลูกข่าย ให้ดูคล้ายว่ามีธุรกิจใหญ่โตน่าเชื่อถือ
-
1 พ.ย. 2562
เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกยึดโกดังปลาร้า ซึ่งเป็นสินค้าในการประกอบอาชีพเก่าของแม่มณีโดยมีการอายัดปลาร้ากว่า 2,500 กล่อง
-
2 พ.ย. 2562
เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แม่มณี และแฟนหนุ่ม ภายในห้องเช่าแห่งหนึ่งในพื้นที่อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จากนั้นตำรวจได้ควบคุมตัว ทั้งคู่มายังห้องขัง
-
5 พ.ย. 2562
ดีเอสไอ เผยวงเงินความเสียหายในคดีแชร์แม่มณีสูงกว่า 1,300 ล้านบาท
-
8 พ.ย. 2562
เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม นางสาวธวัลรัตน์ ทิพย์ประเวช มารดาของแม่มณี ในข้อกล่าวหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยเจ้าหน้าที่พบเงินหมุนเวียนในบัญชีแม่ของ ‘แม่มณี’ กว่า 60 ล้าน
-
11 พ.ย. 2562
เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวลูกสมุนแม่มณีเพิ่มเติม ซึ่งเจ้าหน้าที่พบว่า หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม พบเงินหมุนเวียนในบัญชีนับ 100 ล้านบาท
รู้จัก “แชร์ลูกโซ่” อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
แชร์ลูกโซ่ โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นการระดุมทุนจากบุคคลอื่น ๆ โดยใช้วิธีจูงใจผู้คนด้วยการให้ผลตอบแทนที่สูง และอ้างว่าจะนำเงินที่ได้มาไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรสูงและนำผลกำไรมาคืนให้แก่ผู้ร่วมลงทุน
ส่วนสาเหตุที่มีชื่อว่าแชร์ลูกโซ่นั้น เพราะส่วนใหญ่ แม่ข่ายจะหาสมาชิกใหม่ในลักษณะ ชักชวนกันมาลงทุนเป็นทอด ๆ เพื่อนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า จนกลายเป็นลูกโซ่ เมื่อใดที่เงินในธุรกิจไม่เพียงพอ หรือหมุนไม่ทัน ก็จะเริ่มเลื่อนการจ่ายผลตอบแทนและหนีไป ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์
เปิดประวัติแม่มณี จากพริตตี้ สู่ เซเลบริตี้
แม่ข่ายแชร์แม่มณีมีชื่อจริงว่า น.ส.วันทนีย์ ทิพย์ประเวช หญิงสาวที่เดิมมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดอุดรธานี มีภูมิลำเนาอยู่เขตตำบลบ้านจั่น อ.เมือง ก่อนเกิดเรื่อง เธอเคยประกอบอาชีพเป็นพริตตี้ แม่ค้าขายตุ๊กตาออนไลน์ และเป็นที่รู้จักในนามเน็ตไอดอล แต่หลัง ๆ ชีวิตส่วนตัวของเธอค่อนข้างเป็นไปอย่างอู้ฟู่ เพราะเธอซื้อบ้านหลายหลังใน จ.อุดรธานี ทั้งยังมีรถยนต์หรูอยู่อีกหลายคัน
ก่อนหน้านี้ เธอรับบทบาทเป็นผู้จัดภาพยนต์หลายเรื่อง อาทิ หนังสยองขวัญคอมเมดี้เรื่อง เซนส์อาถรรพ์ มีนักแสดงชื่อดังร่วมแสดงมากมาย เช่น แน็ก ชาลี, ป๋อง กพล และเพิ่งบวงสรวงเปิดกล้องไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา นอกจากนี้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมแม่มณี ยังได้บวงสรวงซีรีส์ที่ตัวเองเป็นผู้จัด เรื่อง World Y วุ่นวายนักใช่ป่ะอีกด้วย
นอกจากนี้ เธอยังเคยปรากฎตัวผ่านสื่อ ที่ลงบทความ พร้อมระบุว่ากิจการมากมายหลายอย่าง อาทิเช่น เป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางค์ manila สถานบันเทิง FakeBar แม่มณี PoolVilla และร้าน cerveconceptcarudonthani ที่มากไปกว่านั้นคือเธอยังเคยได้รับรางวัล Asean Enterprise Awards 2019 สาขานักธุรกิจดีเด่นแห่งปี รวมไปจนถึงรางวัลสุวรรณกาย สาขาสาขานักธุรกิจดีเด่นแห่งปี รางวัล AEC BEST PERFECT AWARDS 2019 อีกด้วย
แม่มณีเคยเป็นข่าวโด่งดังหลังจากวันที่ 8 ก.ค.62 เธอได้ออกมาร้องเรียนกับสื่อมวลชนในจังหวัดอุดรธานีว่า ได้ไปทำศัลยกรรมทรวงอกกับคลินิกแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครอุดรธานี แล้วเกิดแผลจากการผ่าตัด โดยมีการเรียกร้องให้ทางคลินิกรับผิดชอบเยียวยาชดใช้ให้
เหยื่อยอมทุ่มเงินลงทุนกับ ‘แม่มณี’ เพราะเหตุใด ?
-
น่าเชื่อถือ
จากภาพที่ปรากฎผ่านสื่อ แม่มณีนั้นมีภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างดี มีลุคเป็นนักธุรกิจ และผู้บริหารอายุน้อย คล้ายกับคนในแวดวงสังคม เห็นได้จากการจัดงานเปิดตัว Manila แบรนด์เครื่องสำอางค์ของตัวเธอเอง ที่มีรูปแบบยิ่งใหญ่ มีการจ้างดาราดัง เซเล็บมากมายมาร่วมงาน จึงดูน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังมีเหล่า youtube เน็ตไอดอลหลายราย เดินทางไปถ่ายทำคลิปขณะร่วมงานเปิดตัวอีกด้วย
-
เหยื่อไม่เข้าใจภัยจากการแชร์ลูกโซ่ที่แท้จริง
เหยื่อหลายรายในคดีนี้เปิดเผยหลังจากเกิดกรณี แชร์แม่มณีวงแตกว่า ตนไม่ได้มองว่าการลงทุนครั้งนี้ เป็นการลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ดังเช่นที่เคยปรากฏเป็นคดีใหญ่ก่อนหน้านี้ แต่มองว่าการลงทุนกับแม่มณีเป็นการออมเงิน ซึ่งถ้อยคำในการชักชวนมาลงทุนของแม่มณีเอง ก็ใช้คำว่า ‘ฝากเงิน ออมเงิน’ เป็นหลัก
-
ผลตอบแทนจูงใจ จ่ายจริงในตอนแรก
เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลตอบแทนในการฝากเงินกับแชร์แม่มณีนั้น ใช้วิธีการจูงใจผู้คนด้วยการให้ดอกเบี้ยสูงกว่า 93 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังมีระยะเวลาในการฝากเพียง 1 เดือน โดยคำโฆษณานั้นระบุรายละเอียดว่า ฝาก 1,000 รับคือ 1,930 รับคืนทั้งต้นทั้งดอกเบื้ย บวกกับการโฆษณาชวนเชื่อ ‘โอนจริง โอนไว 100 % เครดิตแน่น ๆ ดอกเบี้ยงาม’
นอกจากนี้แม่ข่ายยังใช้วิธีการจ่ายเงินให้ผู้ฝากทั้งต้นทั้งดอกในตอนแรก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จนมีการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก บ้างถึงขั้นผันตัวมาเป็นแม่ทีม และกินส่วนต่างจากการลงทุนซะเองเลยก็มี
ดูข้อกฎหมาย
- มาตรา 12 การแชร์ลูกโซ่ ถือว่าเข้าข่ายการฉ้อโกง ตามมาตรา 12 ผู้กระทำความผิดเรื่องการฉ้อโกงประชาชนได้ระวางโทษผู้กระทำความผิดไว้คือจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับแต่อัตราโทษของผู้กระทำ ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปีและปรับตั้งแต่ 500,000 บาทถึง 1,000,000 บาท และยังมีการปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่
- มาตรา 341 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพยสินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้ประทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น การแชร์ลูกโซ่ มีรูปแบบ อาศัยเครือข่ายให้สมาชิก หรือแม่ทีมหลอกเหยื่อต่อเป็นทอด ๆ ดังนั้นสมาชิกในวงแชร์ที่ได้รับเงินจากเหยื่อคนอื่นอีกทอดหนึ่ง อาจเข้าข่ายถูกดำเนินคดีได้ในฐานเป็นผู้รับฝากเงิน เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนได้
ย้อนรอยคดีแชร์ลูกโซ่
-
แชร์แม่ชม้อย (2527)
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 35 ปี นางชม้อย ทิพย์โส อดีตพนักงานขององค์การเชื้อเพลิง ได้มีการชักจูงประชาชนให้นำเงินมาลงทุนซื้อรถขนน้ำมัน มูลค่าคันละ 1.6 แสนบาท โดยสามารถแยกลงทุนเป็นครึ่งคันเป็นล้อ โดยอ้างได้รับผลตอบแทนใน 15 วัน ในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 78 ต่อปี ยกตัวอย่างเช่น หากลงทุนให้บริษัทกู้ยืมซื้อรถบรรทุกน้ำมันคันละ 160,500 บาท จะให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท แต่ในความเป็นจริง แม้ชม้อยไม่มีการเปิดบริษัทลงทุนแต่อย่างใด
ท้ายที่สุดแล้วแชร์แม่ชม้อยประสบภาวะ “แชร์ล้ม” ไม่สามารถนำเงินไปคืนให้ได้ผู้ลงทุนได้ มีผู้เสียหายไม่ได้รับเงินคืน รวมค่าความเสียหายทั้งหมดกว่า 4 พันล้านบาท จนต้องมีการแจ้งความเอาผิดดำเนินคดีตามกฎหมายในเวลาต่อมา
โดยครั้งนั้น ขณะที่นางชม้อยและพวกถูกตัดสินจำคุก 154,005 ปี แต่ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ลงโทษรวมกันทุกกระทงแล้วไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกนางชม้อยและพวกเป็นเวลา 20 ปี และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชนไปรวม 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทว่า เพียง 7 ปีเศษ แม่ชม้อยก็พ้นโทษ เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในฐานะนักโทษชั้นดี
แม้ชม้อยได้พ้นโทษออกไป เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2536 โดยทรัพย์สินของ “แม่ชม้อย” ถูกนำมาขายทอดตลาดเพื่อชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายแต่ก็ไม่สามารถชดใช้ได้ทั้งหมด กระทั่งจนถึงขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าแม่ชม้อยอาศัยอยู่ที่ใด
-
‘ยูฟัน’ แชร์ลูกโซ่ข้ามชาติ (2558)
บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซีย ได้เข้ามาปักหลักตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยแจ้งประกอบธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ทั้งยังมีการออกสกุลเงินเองเรียกว่า ยู โทเคน (UToken Cash) ใช้แทนสกุลเงินปกติ แต่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล ซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราในโลกออนไลน์ โดยมีค่าสมัครเป็นสมาชิกคนละ 17,000 บาทจนถึง 1,750,000 บาท
ส่วนวิธีการฉ้อโกงมี 3 รูปแบบคือ ไม่จ่ายผลตอบแทนตามแผนที่ระบุต่อนายทะเบียน มีการชักชวนให้สมาชิกเข้ามาร่วมเครือข่ายโดยได้รับผลตอบแทนจากการชวนบุคคลอื่นเข้าร่วม และกู้ยืมเงินเพื่อฉ้อโกงประชาชน โดยมีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อถูกหลอกสูญเงินเป็นจำนวนมากซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหายทั้งหมด 2,451 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 356 ล้านบาท
-
คดีซินแสโชกุน (2560)
ซินแสโชกุน หรือ นางสาวพสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ ได้ทำการหลอกลวงโดยการชักชวนให้ผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกของบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และอ้างว่าจะมีสิทธิ์ได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยหลอกให้สมาชิกเชื่อใจ จากการพาไปเที่ยวต่างประเทศจริงใน 3-4 ครั้งแรก เพื่อให้กลุ่มสมาชิกที่ได้ไปเที่ยวชักชวนคนอื่น ๆ เข้ามาสมัครเพิ่มเติมแต่ในครั้งสุดท้ายกลับมีการลอยแพสมาชิกที่จะเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ให้ตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิจนเป็นข่าวโด่งดัง
จากนั้น ตำรวจไล่ล่าจับกุม “ซินแสโชกุน” พร้อมพวก ได้อย่างรวดเร็ว ขณะกบดานอยู่ที่จังหวัดระนอง ก่อนนำตัวซินแสโชกุน พร้อมพวกรวม 8 คน มาสอบเข้มที่กองปราบปราม เพื่อดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม น.ส.พสิษฐ์ ให้การรับสารภาพว่า ก่อตั้งบริษัท เวลท์เอเวอร์ฯ ในเดือนมกราคม 2560 โดยลวงให้คนมาลงทุนสมัครสมาชิก พร้อมล่อใจด้วยส่วนแบ่งจากการบอกต่อ และทริปต่างประเทศที่สมาชิกต้องจ่ายเงินเพิ่ม ส่วนทรัพย์สินที่ได้จากการหลอกลวง จะถูกแปลงไปเป็นคอนโดมิเนียม และรถหรู โดยใช้เงินส่วนหนึ่งพาสมาชิกไปเที่ยว เพื่อสร้างภาพให้น่าเชื่อถือ โดยคดีดังกล่าวมีมูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยรูปแบบของการแชร์ลูกโซ่อาจเปลี่ยนไปในแค่ละยุค จนถึงปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่า แชร์ลูกโซ่ในยุคนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบการแชร์ลูกโซ่ยุค 4.0 ที่แม่ข่าย อาศัยสื่อออนไลน์ที่มีผู้เข้าถึงเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องมือในการโฆษณาหาเหยื่อ
ทว่า สิ่งหนึ่งที่การแชร์ลูกโซ่ แทบไม่เปลี่ยนรูปแบบไปเลยก็ คือเมื่อเปรียบเทียบดูจากคดีนี้ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเกือบจะทุกครั้ง มีกลโกงแทบจะไม่แตกต่างกัน เพราะล้วนแล้วแต่เลือกหยิบยกเรื่องผลกำไรจากการลงทุนจำนวนมากเกินจริง รวมถึงใช้ระยะเวลาลงทุนอันสั้นมาเป็นเครื่องมือล่อใจผู้เสียหายแทบจะทั้งสิ้น.