12 เขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กลับต่างจังหวัด ตจว. ผู้ติดเชื้อโควิด โควิด-19

สธ. เผยผู้ติดเชื้อโควิดกลับ ตจว. เกือบแสนคน ใน 1 เดือน มากสุดพื้นที่ภาคอีสาน

สธ. ปรับบทบาทการทำงานของบุคลากรการเเพทย์ เพื่อต้องการลดภาระ อาทิเช่น ให้ทันตแพทย์ช่วยเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อ

Home / NEWS / สธ. เผยผู้ติดเชื้อโควิดกลับ ตจว. เกือบแสนคน ใน 1 เดือน มากสุดพื้นที่ภาคอีสาน

ประเด็นที่น่าสนใจ

  • สธ. เผย ผู้ติดเชื้อโควิดกลับ ตจว.เกือบแสนคน ในรอบ 1 เดือน มากสุดเป็นภาคอีสาน เขตสุขภาพ 7-8-9-10
  • ประชาชนที่กลับต่างจังหวัด ให้ติดต่อสอบถาม สปสช. เพื่อประเมินอาการก่อนเดินทาง หากเกิดภาวะฉุกเฉินโทร 1669
  • สธ. ปรับบทบาทการทำงานของบุคลากรการเเพทย์ เพื่อต้องการลดภาระ อาทิเช่น ให้ทันตแพทย์ช่วยเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อ
  • เเนะให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีน เป็นซิโนแวคเข็มเเรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า โดยฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์

สธ. เผย ผู้ติดเชื้อโควิดกลับ ตจว.เกือบแสนคน ในรอบ 1 เดือน มากกว่าครึ่งเป็นภาคอีสาน 4 เขตสุขภาพ

วันนี้ (5 ส.ค. 64) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเพจกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับ การบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาว่า ว่า หลังจากประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้มีประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล กลับสู่ภูมิลำเนาจำนวนมาก และมีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับไปด้วย

จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อเดินทางจาก กทม.และปริมณฑลไปในต่างจังหวัดทั้ง 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ และเข้าระบบการดูแลรักษาแล้ว 94,664 คน มากกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน คือ เขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 13,022 ราย เขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 13,761 ราย เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 17,293 ราย และเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 9,821 ราย

ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในภาคอื่น ๆ ได้เเก่

ภาคเหนือ

เขตสุขภาพที่ 3 : 4,447 ราย

เขตสุขภาพที่ 2 : 5,125 ราย

เขตสุขภาพที่ 3 : 7,515 ราย

ภาคกลางและตะวันออก

เขตสุขภาพที่ 4 : 4,711 ราย

เขตสุขภาพที่ 5 : 7,871 ราย

เขตสุขภาพที่ 6 : 8,691 ราย

ภาคใต้

เขตสุขภาพที่ 11 : 1,424 ราย

เขตสุขภาพที่ 12 : 983 ราย

ประชาชนที่กลับต่างจังหวัด ให้ติดต่อสอบถาม สปสช. เพื่อประเมินอาการก่อนเดินทาง

โดยหลายจังหวัดมีการจัดทำโครงการรับผู้ติดเชื้อกลับบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดยานพาหนะรับส่ง และล่าสุด ภาครัฐมีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย จัดบริการรับผู้ติดเชื้อกลับบ้านอย่างปลอดภัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชน

ส่วนประชาชนที่จะกลับต่างจังหวัดสามารถติดต่อประสานงานล่วงหน้ากับ สปสช. เพื่อประเมินอาการก่อนเดินทาง ขณะเดินทางต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอด เตรียมยารักษาโรคประจำตัวให้พร้อม หากเกิดภาวะฉุกเฉินโทร 1669 และหากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำให้ล้างมือก่อนและหลังใช้

“ประชาชนที่จะกลับต่างจังหวัดขอให้ติดต่อประสานงานล่วงหน้า จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง โดยจะได้รับการประเมินอาการว่าอยู่ในระยะใด หากอาการมากอาจจะประสานดูแลก่อนการเดินทาง ส่วนที่เดินทางได้จะได้รับคำแนะนำ เมื่อไปถึงแล้วจะมีเจ้าหน้าที่มาเตรียมรอรับ ทั้งสถานีรถไฟ รถบัส หรือจุดนัดแนะ เพื่อประเมินสภาพผู้ป่วย แยกอาการตามความรุนแรง อาจเอกซเรย์ปอด เพราะหลายคนไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่ติดเชื้อในปอดจะได้เตรียมรักษา”

สธ. ปรับบทบาทการทำงานของบุคลากรการเเพทย์ เพื่อต้องการลดภาระ

สำหรับผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย รักษาได้ทั้งในโรงพยาบาลสนาม ที่บ้าน และชุมชน ส่วนกลุ่มสีเหลือง อาการปานกลาง พิจารณารักษาในโรงพยาบาลชุมชน บางจังหวัดที่มีการติดเชื้อมากได้จัดเป็นโรงพยาบาลโควิดโดยเฉพาะ และกลุ่มสีแดง มีอาการรุนแรง มีอาการเหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง รักษาในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมามีการเพิ่มเตียง ICU รองรับแล้ว และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยภายในเขตสุขภาพ จากการดำเนินงานทั้งหมดจะช่วยให้มีเตียงรับผู้ป่วยรักษาได้อย่างเหมาะสมตามอาการ

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดมีภาระงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดทีมเข้ามาช่วยเหลือพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ดูแลผู้ติดเชื้อในพื้นที่และดูแลผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมารักษา กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับบทบาทการทำงานของบุคลากร เช่น ทันตแพทย์ช่วยเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อ ลดภาระแพทย์ พยาบาล หรือให้เภสัชกรและนักวิชาการสาธารณสุขมาช่วยทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องควบคุมการให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง (Oxygen High Flow) รวมทั้งกรมสุขภาพจิตได้มีการวางระบบให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารในการดูแลขวัญและกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เหนื่อยล้าจากการทำงานต่อสู้กับโควิดมาอย่างยาวนานเกือบ 2 ปี

นอกจากนี้ ต่างจังหวัดยังส่งทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรมาช่วยงานส่วนกลาง และยังมีคนไข้กลับไปจังหวัดตัวเอง ก.ค. ก็เกือบแสนราย เป็นภาระซ้อนกันสองส่วน แต่เป็นหน้าที่ที่พวกเราทำเต็มที่เพื่อดูแลประชาชนให้อยู่รอดปลอดภัย โดยขวัญกำลังใจผู้บริหาร รัฐบาลพยายามดูแล ซึ่งช่วงวิกฤตคงไม่สบายที่จะไปทำงานโดยไม่มีปัญหา และระยะยาวนานก็เหนื่อยล้า หลายคนเริ่มมีปัญหา กรมสุขภาพจิตมีการวางระบบดูแล

เเนะให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปฉีดวัคซีน เป็นซิโนแวคเข็มเเรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า

นพ.ธงชัย ฝากข้อความถึงประชาชน ให้ดูแลสุขภาพตนเองและเชิญชวนไปฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ที่อยู่ในกลุ่มนี้ ทั้งผู้สูงอายุ 60 ปี 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ โดยวัคซีนที่แนะนำรอบหลัง คือซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่าง 3 สัปดาห์ ข้อมูลชัดเจนว่าฉีดแบบนี้ดีกว่าซิโนแวค 2 เข็ม และเท่ากับแอสตร้าฯ 2 เข็ม โดยภูมิต้านทานขึ้นมาเท่ากันแต่ระยะเวลาสั้นกว่าใช้เวลาภูมิขึ้นเต็มที่ 5 สัปดาห์ แต่แอสตร้าฯ 2 เข็มใช้เวลา 12-14 สัปดาห์จะล่าช้าไป ซึ่งจะช่วยฉีดลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้