ประเด็นที่น่าสนใจ
- ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวถึงการลงนามข้อตกลงการเยี่ยมเยือนทางการทหาร ระหว่างฟิลิปปินส์ – สหรัฐฯ
- โดยระบุว่า เป็นการตอบแทนในการจัดหาวัคซีนของสหรัฐฯ ให้กับฟิลิปปินส์ ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ จัดส่งวัคซีนให้กับฟิลิปปินส์แล้ว 6 ล้านโดส
- ข้อตกลงการเยี่ยมเยือนทางการทหารของฟิลิปปินส์ – สหรัฐฯ ทำให้ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือทางการทหารระหว่างกัน
…
นายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวในที่ประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการและชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านสถานีโทรทัศน์ RTVM ซึ่งในตอนหนึ่ง ดูเตอร์เต ได้กล่าวถึงการลงนาม ข้อตกลงเยี่ยมเยือนทางทหารหรือวีเอฟเอ ( Visiting Forces Agreement – VFA) ที่ได้ตัดสินใจจะลงตามต่ออายุข้อตกลงดังกล่าว หลังจากได้มีการยกเลิกเมื่อปี 2020 กับทางสหรัฐฯ และเลื่อนการตัดสินใจลงตามมาเป็นระยะ ๆ
“เรายอมรับที่จะการต่ออายุข้อตกลงเยี่ยมเยือนทางทหาร เป็นการตอบแทน”
ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวในที่ประชุมถึงการเดินทางไปรับวัคซีนที่สนามบิน เมื่อวันก่อน จำนวน 3 ล้านโดส ที่ทางสหรัฐฯ ได้จัดส่งมายังประเทศฟิลิปปินส์ในการต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ยังได้กล่าวขอบคุณไปยังประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โจ ไบเดน, รัฐบาลสหรัฐฯ และชาวอเมริกาที่ยังไม่ลืมชาวฟิลิปปินส์ และอย่าลืมเรา เพราะเรามีมุมมองของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เดียวกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
โดยที่ผ่านมา เมื่อกลางเดือน ก.ค.64 ฟิลิปปินส์ ได้รับวัคซีนจอห์นสัน แอนด์จอห์นสัน จากสหรัฐฯ จำนวน 3 ล้านโดส และได้รับวัคซีนโมเดอร์นาอีกจำนวน 3 ล้านโดสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4 ส.ค.)
สำหรับข้อตกลงการเยี่ยมเยือนทางการทหารนั้น ฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกข้อตกลงการเยี่ยมเยือนทางการทหาร ฟิลิปปินส์ – สหรัฐฯ เมื่อปี 2563 โดยระบุว่า ฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงจากการตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และ ดูเตอร์เต เคยกล่าวไว้ว่า หากให้มีฐานทัพสหรัฐฯ และเกิดสงครามขึ้น มีการนำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาในฟิลิปปินส์แล้ว ฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงที่จะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
…
ข้อตกลงการเยี่ยมเยือนทางการทหาร
ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ลงนามข้อตกลงวีเอฟเอเมื่อปี 1998 ในการปฏิบัติงานทางการทหารร่วมกัน โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ต่างๆ รวมไปถึงการใช้งาน ฐานทัพสหรัฐฯ เดิมในอ่าวซูบิกด้วย (Naval Base Subic Bay)
สำหรับฐานทัพในอ่าวซูบิกแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1885 โดยกองทัพสเปน ในช่วงที่สเปนเป็นเจ้าอาณานิคมอยู่ จนกระทั่งสหรัฐฯ เข้ามาเป็นผู้ปกครองต่อในปี 1899 และสหรัฐฯ ก็ได้ดูแลฐานทัพแห่งนี้ต่อเนื่องจนถึงปี 1942
โดยในปี 1942 กองทัพญี่ปุ่นบุกฟิลิปปินส์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยึดฐานทัพในอ่าวซูบิกแห่งนี้ได้ หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลก ทำให้กองทัพสหรัฐฯ กลับมาใช้ฐานทัพแห่งนี้ ต่อเนื่องตั้งแต่ 1945 – 1992 และได้มีการปิดฐานทัพแห่งนี้ไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากปิดไปได้เกือบ 7 ปี ก็มีข้อตกลงการเยียมเยือนทางการทหาร ระหว่างฟิลิปปินส์ – สหรัฐฯ ก็เกิดขึ้น ทำให้สหรัฐฯ สามารถกลับมาใช้ฐานทัพแห่งนี้ ร่วมกับกองทัพฟิลิปปินส์ ในการฝึกอบรมร่วมกัน
ซึ่งฐานทัพแห่งนี้ มีความสำคัญในการที่สหรัฐฯ ต่องการใช้งานเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นเพื่อคานอำนาจกับจีน ท่ามกลางความตึงเครียดที่คุกรุ่นอยู่ในบริเวณทะเลจีนใต้ ในขณะนี้ โดยเฉพาะในข้อพิพาทเรื่องสิทธิเหนือ หมู่เกาะสแปรตลี ที่เกิดขึ้นระหว่างจีน และฟิลิปปินส์
คองเกรสอนุมัติขายอาวุธให้ฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ ในเดือน ก.ค. 64 ที่ผ่าน สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้อนุมัติจำหน่ายอาวุธให้กับฟิลิปปินส์ประกอบไปด้วย
- เครื่องบินขับไล่ F-16 BLOCK 70/72 มูลค่า 2,430 ล้านเหรียญฯ
- Harpoon Block II รุ่น RGM-84L มูลค่า 120 ล้านเหรียญฯ
- มิสไซล์ AIM 9X-2 Sidewinder Block II มูลค่า 42.4 ล้านเหรียญฯ
และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ได้รับมอบเครื่องบิน C-130 จำนวน 2 ลำ โดยจัดซื้อมูลค่า 1.64 พันล้านบาท (ลำละ 820 ล้านบาท) และรัฐบาลสหรัฐฯ ช่วยเหลือให้ 588 ล้านบาท รวมถึงเงินกู้ยืมในการจัดซื้อในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ใช้ในการลำเลียงและภารกิจช่วยเหลือต่าง ๆ
ก่อนที่ หนึ่งในสองลำ จะเกิดเหตุตกเมื่อ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา