ประเด็นน่าสนใจ
- ปอท.แถลงจับแฮกเกอร์แสบปลอมเฟซบุ๊ก สมัครงาน ล้วงเอาบัตรประชาชน เบอร์มือถือ
- ผู้ก่อเหตุนำข้อมูลไปเปิดบัญชีวอลเล็ต ใช้หลอกยืมเงินตุ๋นเหยื่อนานกว่า 3 ปี
- คนร้ายรับเงินจากการหลอกลวงเหยื่อไปเกือบ 40 ล้าน
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 15 พ.ย.62 ที่ บก.ปอท. นายพุทธิพษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส.) แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาคดีน่าสนใจ ภายใต้การอํานวยการของพล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. พ.ต.อ.สมเกียรติ เฉลิมเกยีรติ รอง ผบก.ปอท. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. พ.ต.อ.ศราวุฒิ บวรกิจประเสริฐ ผกก.๒ บก. ปอท. พ.ต.ท.กมล ทวีศรี รอง ผกก.๒ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ กก.2 บก.ปอท. ได้ร่วมกัน จับกุมตัวนายวุฒิวัฒน์ ชื่นมโน อายุ 22 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1317/2562 ลง 6 พ.ย.62
ทั้งนี้มีการจับกุมผู้ต้องหาได้ที่บ้านเลขที่ 37/157 , 158 ซ.สุขสมภพ 14 หมู่ที่ 6 ต.เกาะขวาง อ.เมือง จ.จันทบุรี ก่อนแจ้งข้อหา”ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ,โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
พ.ต.ต. พงษ์ธร โปนกแก้ว สว.กก.2 บก.ปอท. หัวหน้าชุดจับกุม กล่าวถึงขั้นตอน ในขบวนการดังกล่าวดังนี้
- ผู้ต้องหา ได้สร้างเฟสบุ๊กปลอม แล้วนําไปหลอกรับสมัครงาน เพื่อให้ได้ข้อมูล บัตรประชาชน และ เบอร์โทรศัพท์ ของบุคคลอื่น ก่อนนําไปสมัครกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เจ้าดังขึ้นต้นด้วยตัว T)
- ผู้ต้องหาทําการแฮค เฟสบุ๊กของบุคคลอื่นแล้วส่งข้อความไปขอยืมเงินโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เปิดลงทะเบียนไว้
- เมื่อได้เงินก็จะนําเงินที่ได้ไปซื้อรหัสเงินสดหรือทําการโอนเงินจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเข้า บัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ของนายชวัลกร ระงับภัย (ผู้ต้องหาอีกราย)
- นายชวัลกร ก็จะนําเงินที่ได้รับไปซื้อรหัสเงินสด แล้วนํารหัสเงินสดไปขาย กับทางแม่ค้าซื้อขายไอเทมเกมส์ หรือทางเวปไซด์ต่างๆ ที่รับซื้อรหัสเงินสด
- เมื่อได้เงินสดมาก็จะโอนเงินเข้าบัญชีของนายวุฒิวัฒน์ โดยได้ส่วนแบ่งจากยอดเงินครั้งละ 10 %
จากข้อมูลที่ตรวจสอบได้ พบว่ามีการโอนเงินจากนายชวัลกรเข้าบัญชี นายวุฒิวัฒน์ เป็นเงินจํานวนกว่า 8 ล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีของนายวุฒิวัฒน์กว่า 34 ล้านบาท
นายวุฒิวัฒน์ ให้การรับสารภาพว่าก่อเหตุในลักษณะเดียวกันนี้มาตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ทำครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ย.62 ที่ผ่านมา
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ รอง โฆษก บก.ปอท.ในฐานะ ได้ฝากเตือนภัยพี่น้องประชาชนที่สนใจในการสมัครทํางานผ่านทางออนไลน์ให้ระมัดระวังภัยอาจตกเป็นเหยื่อผู้ไม่หวังดีโดยไม่รู้ตัว การสมัครงานออนไลน์ควรปฏิบัติ คือ
- การสมัครงานออนไลน์ โดยให้เราส่งข้อมูลบัญชีธนาคาร บัตรประชาชน และหมายเลข โทรศัพท์ แล้วให้ทําธุรกรรมการเงินผ่านบัญชีของเรา พึงระวังว่าเราอาจตกเป็นเครื่องมือหรือเป็นเหยื่อของ มิจฉาชีพ ในการกระทําความผิดได้
- ห้ามส่งข้อมูลบัตรประชาชน ,หมายเลขโทรศัพท์ และรหัส OTP ให้กับบุคลอื่น
- กรณีที่มีเพื่อนใน Facebook หรือใน Line ส่งข้อความมายืมเงิน ควรติดต่อกลับไปยังเพื่อน คนนั้น หรือ วีดีโอคอลคุยกัน เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเพื่อนเราจริงหรือไม่ หากไม่แน่ใจก็ไม่ควรให้ยืมเงิน เพราะ อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้
- ไม่ควรตั้งรหัส facebook ด้วยหมายเลขโทรศัพท์เพราะคนร้ายนิยมสุ่มทายพาสเวิร์ดได้