ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บภาษีสรรพากรสะสมในช่วงไตรมาสที่ ๑ ของปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม – ธันวาคม 2561) เก็บได้ 412,391 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 41,709 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 และสูงกว่าประมาณการจัดเก็บภาษีสรรพากรตามเอกสารงบประมาณ 28,006 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3
ดร.เอกนิติ กล่าวถึงสาเหตุที่การจัดเก็บภาษีสรรพากรสูงกว่าประมาณการเอกสารงบประมาณ ในไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2562 เนื่องจากการขยายตัวของการนำเข้าและราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงขึ้นได้ส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า อีกทั้งมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ที่ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพากรเพิ่มขึ้น ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีตามแนวโน้มโครงการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ยอดขายอสังหาริมทรัพย์และการโอนจำหน่ายรถยนต์ที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนภาคเอกชนและจำนวนผู้มีงานทำ เป็นต้น
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพากรได้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยนำเทคโนโลยี Data Analytics มาช่วยวิเคราะห์ เพื่อหาผู้ประกอบการรายใหม่ซึ่งอยู่นอกระบบ บูรณาการข้อมูลภายในและภายนอก เพื่อเชื่อมโยงไปยังรายได้ที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ปรับปรุงระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (Risk Base Audit System: RBA) เพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์ครบถ้วน และปรับปรุงระบบ Criteria เพื่อคัดกรองรายผู้ประกอบการที่มีความผิดปกติให้หน่วยปฏิบัติตรวจสอบข้อเท็จจริงและแนะนำภาษีอากรต่อไป รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งรัดหนี้ภาษีอากร
“จากผลจัดเก็บภาษีสรรพากรในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 ทำให้คาดว่าในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพากรจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมายจัดเก็บตามเอกสารงบประมาณ 2562 จำนวน 2,000,000 ล้านบาท โดยกรมสรรพากรจะเร่งนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน เพื่อขยายฐานภาษีและสร้างความสมัครใจในการเสียภาษี ช่วยให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรมีประสิทธิภาพต่อไป” ดร.เอกนิติ กล่าว