หนานหนิง,(ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์จีนและเดนมาร์ก ประสบความสำเร็จในการสกัดสารพันธุกรรมจากซากฟอสซิล อายุ 1.9 ล้านปี ของไจแกนโทพิธิคัส (Gigantopithecus) ซึ่งเป็นลิงยักษ์สายพันธุ์หนึ่ง
การค้นพบดังกล่าวที่เผยแพร่ผ่านวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันพุธ (13 พ.ย.) นับเป็นครั้งแรกของการสกัดสารพันธุกรรมจากซากฟอสซิลในภูมิภาคกึ่งเขตร้อน ซึ่งอาจช่วยให้เข้าใจต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของลิงยักษ์ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว
นักวิทยาศาสตร์สามารถบ่งชี้ว่า ไจแกนโทพิธิคัสมีบรรพบุรุษร่วมกับลิงอุรังอุตังตั้งแต่ราว 10-12 ล้านปีก่อน และการแยกสายพันธุ์จากลิงอุรังอุตังของไจแกนโทพิธิคัสก่อให้เกิดการแผ่รังสีไมโอซีน (Miocene) ของลิงยักษ์สายพันธุ์ต่างๆ
อนึ่ง ลิงยักษ์จัดเป็นไพรเมต (primate) ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลก โดยนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าพวกมันมีความสูงมากกว่า 2 เมตร และน้ำหนักกว่า 300 กิโลกรัม ส่วนฟอสซิลที่เคยค้นพบมีอายุตั้งแต่ 3 แสนจนถึง 2 ล้านปี
เหลียวเว่ย นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยากว่างซี (AMGX) และผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวว่าสารสกัดพันธุกรรมที่เป็นการเรียงลำดับโปรตีโอม (proteome) ของส่วนเคลือบฟัน ถูกสกัดเมื่อปี 2018 จากฟันกรามของไจแกนโทพิธิคัส อายุ 1.9 ล้านปี ซึ่งค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน
หวังเว่ย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซานตง (SDU) ของจีน กล่าวว่าส่วนเคลือบฟันที่หนาและแข็งของลิงยักษ์ กอปรกับสภาพถ้ำที่มีอุณหภูมิและความชื้นคงที่ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ฟอสซิลยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์
“ปัจจัยทั้งสองช่วยให้นักวิจัยสกัดสารพันธุกรรมจากส่วนเคลือบฟันของฟอสซิลลิงยักษ์ และสร้างความก้าวหน้าทางการวิจัย” หวังที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งขุดพบซากฟอสซิลในปี 2008 กล่าว
โฟรโด เวลเกอร์ (Frido Welker) จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (UCPH) และเป็นผู้นำการเขียนงานวิจัย กล่าวว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบสารพันธุกรรมเก่าแก่เช่นนั้นในสภาวะอบอุ่นและชื้น ซึ่งเป็นการบุกเบิกสาขาชีววิทยาวิวัฒนาการ
ที่มาจาก สำนักข่าวซินหัว