ประเด็นน่าสนใจ
- บริษัทในสหรัฐ ใช้เทคโนโลยีช่วย ปลาแซลมอนสามารถกลับไปวางไข่ยังบริเวณต้นน้ำ
- ภายหลังจากการสำรวจพบว่าประชากร ‘ปลาแซลมอน’ ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนลดลง
- และการสร้างเขื่อนทำให้ปลาแซลมอนยากต่อการว่ายกลับขึ้นไปวางไข่
บริษัทในสหรัฐใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยทำให้ปลาแซลมอนสามารถกลับไปวางไข่ยังบริเวณต้นน้ำ ในพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ประชากรปลาแซลมอนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐกำลังมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ขณะที่การสร้างเขื่อนทำให้ปลาแซลมอนว่ายน้ำกลับไปยังแหล่งอาศัยบริเวณต้นน้ำเพื่อวางไข่ได้ยากมากขึ้น
นอกเหนือจากผู้ล่า เช่นมนุษย์และสัตว์ชนิดต่างๆ แล้ว พวกมันต้องว่ายทวนน้ำผ่านการใช้บันไดปลาที่ถูกสร้างขึ้นตามเขื่อนและทำนบหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้ ทำให้บริษัท Whooshh Innovations เกิดไอเดียในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ปืนใหญ่แซลมอน” หรือ Salmon Cannon
สิ่งที่เรียกกันว่า “ช่องทางของปลา” นี้ คือท่อยางที่ต่อจากเรือในแม่น้ำ ลากยาวขึ้นไปยังสันเขาบริเวณด้านข้างของเขื่อน ปลาจะถูกส่งจากปลายด้านหนึ่งของท่อขึ้นไปยังปลายอีกด้านหนึ่ง
วินซ์ ไบรอัน ซีอีโอของ Whooshh Innovations กล่าวว่า ปลาแซลมอนที่ว่ายทวนแม่น้ำโคลัมเบีย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ ต้องเผชิญอุปสรรคขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนหลายแห่ง ที่อาจมีความสูง 60-150 เมตร ดังนั้น บันไดปลาที่สร้างขึ้นอาจไม่ช่วยให้ปลาสามารถเดินทางไปวางไข่ที่ต้นน้ำได้ ดังนั้น เขาจึงเกิดแนวคิดในการใช้ระบบนิวเมติกส์ หรือระบบที่เปลี่ยนพลังงานลมไปเป็นพลังงานกล ทำให้ปลาไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานใดๆ ในการเดินทางขึ้นมาเหนือเขื่อน
ไบรอัน กล่าวว่า สภาพไร้ความฝืดถูกสร้างขึ้นภายในท่อ ด้วยการสร้างระบบไอน้ำ ขณะที่เมือกที่เคลือบอยู่บนผิวหนังของปลา และการใช้แรงดันที่ต่ำมาก ที่น้อยกว่า 1 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ทำให้ปลาสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึง 7.5 เมตรต่อวินาที
นอกจากนั้น บนเรือยังมีการสร้างระบบทางน้ำไหล ที่เรียกว่า Alaska Steep Pass เพื่อหลอกให้ปลาเข้าใจว่านี่คือเส้นทางสำหรับการว่ายทวนน้ำ เมื่อปลาว่ายขึ้นไป ระบบสแกนเนอร์จะถ่ายภาพจำนวน 18 ภาพ ซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการจำแนกขนาดและสปีชีส์ของปลาแซลมอน และเป็นปลาเลี้ยงหรือปลาที่เติบโตตามธรรมชาติ โดยบริษัทเรียกระบบนี้ว่า “ระบบการจดจำปลา” (fishial recognition)
หลังจากผ่านการสแกน การตัดสินใจว่าจะส่งปลาขึ้นไปยังเหนือเขื่อนหรือไม่ จะถูกสื่อสารผ่านไปยังคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบคัดแยก และช่องทางที่นำปลาขึ้นไปยังเขื่อนหรือกลับลงไปสู่แม่น้ำ