พลอยเฌอมาลย์ มะเดี่ยว มาริโอ้เมาเร่อ รักแห่งสยาม สินจัย

12 ปี รักแห่งสยาม หนังที่กล้าตั้งคำถามต่ออัตลักษณ์ทางเพศ

เริ่มแรกของการโปรโมทตามสื่อต่างๆ ก่อนจะฉายจริงในวันที่ 22 พ.ย.2550 หลายต่อหลายคนต่างคิดว่า ภาพยนตร์ที่ชื่อว่า รักแห่งสยาม ซึ่งกำกับการแสดงโดยผู้กำกับหน้าใหม่อย่าง มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จะเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวความรักของวัยรุ่นหน้าตาดี ที่นักแสดงในขณะนั้น ก็เป็นนักแสดงที่ยังเป็นเพียงนักแสดงหน้าใหม่เท่านั้น แต่เมื่อหนังเริ่มฉายไปในวงกว้าง…

Home / NEWS / 12 ปี รักแห่งสยาม หนังที่กล้าตั้งคำถามต่ออัตลักษณ์ทางเพศ

ประเด็นน่าสนใจ

  • ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นวันออกฉายอย่างเป็นทางการของภาพยนตร์ที่สร้างความทรงจำและการรับรู้ใหม่ของ LGBTQ ในสังคมไทย ภาพยนตร์เรื่องนั้น คือ รักแห่งสยาม ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญแก่วงการภาพยนตร์ไทยในหลายมิติ และขยับเส้นพรมแดนของการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องตัวตนทางเพศในสื่อของไทย ที่สลัดหลุดออกจากภาพจำเดิมๆ ที่คนในสังคมมีต่อเพศทางเลือก

เริ่มแรกของการโปรโมทตามสื่อต่างๆ ก่อนจะฉายจริงในวันที่ 22 พ.ย.2550 หลายต่อหลายคนต่างคิดว่า ภาพยนตร์ที่ชื่อว่า รักแห่งสยาม ซึ่งกำกับการแสดงโดยผู้กำกับหน้าใหม่อย่าง มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จะเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวความรักของวัยรุ่นหน้าตาดี ที่นักแสดงในขณะนั้น ก็เป็นนักแสดงที่ยังเป็นเพียงนักแสดงหน้าใหม่เท่านั้น แต่เมื่อหนังเริ่มฉายไปในวงกว้าง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทั้งแง่บวกและแง่ลบในหลายรูปแบบ สำหรับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบ หลายเสียงบอกว่า เหมือนกำลังโดนตัวอย่างหนังหลอกให้ตายใจ และไม่คาดคิดว่าจะเจอกับเรื่องราวที่ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องรักในหมู่วัยรุ่นเท่านั้น ส่วนอีกฝ่าย บอกว่า ผู้สร้างมีสิทธิ์ที่จะตัดตัวอย่างหนังแบบใดก็ได้ และสามารถเลือกจะเปิดเผยบางสิ่ง ปิดบังบางอย่าง จนกว่าผู้ชมจะเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ขยายพรมแดนต่อการรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องสถานภาพทางเพศที่ไปไกลกว่าเดิมอย่างแน่นอน

รักแห่งสยามกับมายาคติที่ฝังลึกในสังคมไทย

ภาพมายาคติในสังคมไทยก่อนหน้า รักแห่งสยามจะฉาย คือการนำเสนอภาพของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในระนาบที่ไม่ได้ตั้งคำถามต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่นัก ภาพของกลุ่ม LGBTQ ในสื่อ ต่างเลือกเดินข้างอย่างสุดโต่ง โดยให้ตัวละครกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ มักจะแบ่งออกมาเป็นสองขั้วใหญ่ๆ ขั้วหนึ่งคือภาพของความตลก ที่ยึดโยงอยู่กับอาชีพในวงการบันเทิง เป็นคนคอยให้คำปรึกษา หรือคนที่รับบทบาทเพื่อผ่อนคลายเรื่องราวเครียดๆ ในสื่อนั้นๆ ส่วนอีกขั้วหนึ่ง คือ ขั้วของคนหลากหลายทางเพศที่ชีวิตเต็มไปด้วยความรันทด จนถึงขนาดติดเชื้อ HIV หรือไม่ก็ต้องฆ่าตัวตายจากผลของการผิดหวังในความรัก แต่รักแห่งสยามได้ให้ภาพที่ไปไกลกว่าที่สื่อในอดีตเคยทำมา เพราะมันนำเสนอภาพของการตั้งคำถามถึงตัวตนข้างในของคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรกันแน่ ความสับสน การเฝ้าหาคำตอบจากบางสิ่งบางอย่างโดยเรียนรู้เอาจากประสบการณ์ส่วนตัวและการลอดงผิดลองถูกของตัวเอง โดยที่ผู้กำกับไม่ได้ผลักตัวละครให้กระทำไปจนสุดขั้ว ซึ่งผลของมัน ได้ทำให้สังคมไทยได้เริ่มเรียนรู้ว่าความหลากหลายทางเพศมีมิติอื่นๆที่รอการค้นหาอยู่ และไม่สมควรที่จะตีกรอบจนไม่ทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และแน่นอนว่านักแสดงที่รับบทโต้ง อย่างมาริโอ้ เมาเร่อ และมิว ซึ่งรับบทโดย วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล (พิช) ได้แสดงศักยภาพและถ่ายทอดสภาวะของความสับสนในตัวตน และพยายามตั้งคำถามถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ภายในตัวเองได้อย่างน่าสนใจ และทำให้เขาทั้งคู่แจ้งเกิดในวงการบันเทิงได้อย่างสวยงาม

ความเป็นครอบครัวที่สมจริง

ไม่ใช่แค่เพียงภาพของการนำเสนอความลื่นไหลทางเพศที่รักแห่งสยามทำได้อย่างชาญฉลาดและกล้าตั้งคำถามอย่างน่าสนใจ อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้รักแห่งสยามได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์และผู้ชม คือการนำเสนอภาพระยะเวลาที่กำลังจะล่มสลายของครอบครัวหนึ่ง ที่ทุกคนในครอบครัวต่างกักเก็บความผิดบาปในใจเอาไว้กับตัวจนละเลยคนรอบข้าง และเกือบจะไม่ทันการ ผู้กำกับฉลาดที่นำประเด็นนี้ขนานไปกับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะในสังคมไทย การแสดงออกทางเพศเป็นสิ่งหนึ่งที่ครอบครัวจะต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากแต่รักแห่งสยามก็ได้เสนอสิ่งที่แตกต่างออกไป และการทำให้ภาพบทบาทความเป็นพ่อเป็นแม่ได้ถูกสลับหน้าที่กัน สังคมไทยมักจะบอกว่าผู้ชายคือช้างเท้าหน้า และผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง หากแต่รักแห่งสยามได้สลับตำแหน่งแห่งที่ของคำพูดดังกล่าว เพราะคนเป็นแม่ในรักแห่งสยาม คือคนที่คอยปะคับประครองให้ครอบครัวไม่แตกสลาย และส่วนคนเป็นพ่อเอง ก็เกือบจะสูญเสียครอบครัวไปจากการจมอยู่กับความทุกข์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ภาวะการล่มสลายของครอบครัวในรักแห่งสยามจะไม่ได้รับการพูดถึงอย่างมากมาย ถ้าผู้ที่รับบทสำคัญนี้ ไม่ใช่สินจัย เปล่งพานิช ในบทสุนีย์ แม่ที่ทุกทุกวิธีทางเพื่อให้ครอบครัวดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น สินจัย เปล่งพานิช ให้การแสดงในระดับที่ทำให้ทุกคนต่างต้องยอมรับและทำให้ฉากที่แสนธรรมดาบางฉากกลายเป็นคลาสสิกของหนังไทย ส่วนนักแสดงที่มารับบทพ่อที่ทุกข์ทน คือ กบ ทรงสิทธิ์ ในบท กร ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม และแสดงให้เห็นถึงการรับส่งพลังทางการแสดงกับสินจัย เปล่งพานิชได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

จูน / แตง ตัวละครที่เชื่อมโลกและทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน

นอกจากประเด็นและบรรดาตัวละครที่มากมาย ถ้าจะให้พูดถึงตัวละครที่สร้างความพิเศษให้แก่หนังเรื่องรักแห่งสยาม จนทุกวันนี้หลายคนยังตั้งคำถามอยู่ คือ ตัวละครที่ชื่อว่า จูน และ แตง ที่เล่นโดยนักแสดงคนเดียวกันอย่าง พลอย เฌอมาลย์  และผู้กำกับเองก็ตั้งใจที่จะให้ตัวละครสองตัวนี้ ได้เป็นจุดเชื่อมโยงบางอย่างทั้งความทรงจำในอดีต และปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น แน่นอนว่า พลอย เฌอมาลย์ได้แสดงศักยภาพของนักแสดงหญิงฝีมือฉกาจให้ทุกคนรับรู้ ด้วยการสร้างสภาวะทางการแสดงบางอย่างที่ทำให้ตัวละครในเรื่องและผู้ชมเองทั้งกังขา แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกไว้วางใจในสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอย่างมาก เพราะหลายตัวละครในเรื่องและตัวผู้ชมหลายคนเอง รู้สึกตั้งคำถามของการมีอยู่ของตัวละครอย่างจูน และแตงอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อถึงช่วงท้ายของเรื่อง ทุกคนกลับรู้สึกว่าการมีอยู่ของตัวละครที่เล่นโดย พลอย เฌอมาลย์นี่แหละ เป็นความอบอุ่นบางอย่างในเรื่อง และสร้างความพิเศษให้แก่ทุกตัวละคร

เพลงประกอบภาพยนตร​์และองค์ประกอบภาพ

นอกจากบทภาพยนตร์ การกำกับ และนักแสดง ที่ทำให้รักแห่งสยามกลายเป็นหนังในตำนานภายในระยะเวลาสั้นๆ สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นตัวชูรสให้แก่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี สิ่งแรกคือ เพลงประกอบภาพยนตร์ ที่จนขณะนี้ เพลงอย่าง กันและกัน ยังเป็นเพลงที่รายการประกวดร้องเพลง หรือในคอนเสิร์ตของศิลปินดังๆ ในไทย ยังถูกนำไปร้องให้เราได้ยินอยู่เสมอ เพราะมันเป็นเพลงที่นำเสนอเรื่องราวที่ไปไกลกว่าเรื่องความรักวัยรุ่น มันเป็นเพลงที่สื่อให้เห็นความสัมพันธ์ ความทรงจำ ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับแค่เพศชายและเพศหญิง มันเป็นเพลงที่สื่อให้คนทุกเพศทุกวัยได้รับรู้ และแน่นอนว่านอกจากเพลงกันและกัน หลายเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งมะเดี่ยว ซึ่งเป็นผู้กำกับได้แต่งมันขึ้นมา ก็ยอดเยี่ยมและไพเราะอย่างมาก ในส่วนขององค์ประกอบภาพ รักแห่งสยามเปรียบเสมือนเครื่องบันทึกความเป็นสยามสแควร์ได้อย่างละเมียดละไม และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะกล่าวเกินจริงว่า ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปีที่ผ่านมา รักแห่งสยามได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย