คดีถือหุ้นสื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บริษัทวีลัค มีเดีย

ชี้ชะตา!! ‘ธนาธร’ รอด-ไม่รอด กับคดีหุ้นวี-ลัคมีเดีย 20 พ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลาประมาณ 14.00 น. พรุ่งนี้ (20 พ.ย.62) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยสถานภาพความเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ…

Home / NEWS / ชี้ชะตา!! ‘ธนาธร’ รอด-ไม่รอด กับคดีหุ้นวี-ลัคมีเดีย 20 พ.ย.นี้

ประเด็นน่าสนใจ

  • พรุ่งนี้ (20 พ.ย.62) ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย กรณี ‘ธนาธร’ ถือหุ้นสื่อ
  • ’ธนาธร’ ยืนยันโอนหุ้นถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการโอนก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
  • ยืนยันบริษัทวี-ลัค มีเดีย ไม่ได้เป็นบริษัทสื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลาประมาณ 14.00 น. พรุ่งนี้ (20 พ.ย.62) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยสถานภาพความเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) โดยเข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช่สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือไม่ กรณีการถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า การโอนหุ้นนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย เป็นการโอนหุ้นก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งถือว่าไม่ขัดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ยืนยันว่าบริษัทวี-ลัค มีเดีย ไม่ใช่บริษัทสื่อ และยุติกิจการไปแล้ว ณ วันที่ 6 ก.พ.62

อย่างไรก็ตามในคำร้องของ กกต. ระบุว่าตนยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทวี-ลัค มีเดีย ถึงวันที่ 21 มี.ค.62 โดยอ้างอิงถึงเอกสาร บอจ.5 ทั้งๆ ที่ในทางปฏิบัติจริงในโลกธุรกิจหรือในทางนิตินัย บอจ. 5 ไม่ใช่หลักฐานแห่งการโอนหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 แต่อย่างใด เป็นเพียงหนังสือที่บริษัทแจ้งกระทรวงพาณิชย์ถึงรายชื่อผู้ถือหุ้น การจะดูว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเกิดผลสำเร็จหรือธุรกรรมเกิดขึ้นเรียบร้อยเมื่อไร เขาอ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1129 และมาตรา 1141

ซึ่งในวันที่ 8 มกราคม 2562 ตนได้โอนหุ้นให้คุณสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เรียบร้อยแล้ว โดยได้ทำตราสารโอนหุ้นโดยมีพยานสองคนรับรองลายมือชื่อต่อหน้าทนายความโนตารี และส่งมอบเช็คชำระเงินค่าหุ้น พร้อมทั้งได้จดแจ้งการโอนและรับโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทวีลัคในวันเดียวกันครบถ้วนสมบูรณ์ความตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 1129 และมาตรา 1141

ดังนั้น สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจึงไม่ใช่หลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หากผู้ร้องไม่มีหลักฐานอื่นมาสนับสนุนข้ออ้างตามคำร้อง ศาลจึงพึงรับฟังข้อเท็จจริงไปตามสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นว่า ตนได้โอนหุ้นให้แก่นางสมพรไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ผู้ร้องไม่อาจนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) มาใช้เป็นหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ว่าตนได้โอนหุ้นของบริษัทวีลัคภายหลังจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ได้