คดีถือหุ้นสื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ ไทยซัมมิท

ส่องเส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ ก่อนถูกศาลรธน. มีมติให้สิ้นสภาพ ส.ส.

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชื่อเล่นว่า ‘เอก’ เกิดเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2521 อายุ 40 ปี เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายพัฒนา และ…

Home / NEWS / ส่องเส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ ก่อนถูกศาลรธน. มีมติให้สิ้นสภาพ ส.ส.

ประเด็นน่าสนใจ

  • วันที่ 20 พ.ย. 62 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย พร้อมมีมติให้ ‘ธนาธร’ สิ้นสภาพ ส.ส.
  • จากอดีตนักธุรกิจหมื่นล้าน สู่ เส้นทางการเมือง
  • อดีต กกต. เผยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสิทธิทางการเมือง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชื่อเล่นว่า ‘เอก’ เกิดเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2521 อายุ 40 ปี เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายพัฒนา และ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริหารและกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท จบการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนเซนต์ดอมินิก ระดับชั้นมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และศึกษาต่อในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสองสถานบัน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษ

โดยในช่วงศึกษาระดับปริญญาตรี นายธนาธร เริ่มสนใจในการทำกิจกรรมของนักศึกษา ทั้งในสถาบันเดียวกันและต่างสถาบัน กระทั่งปี 2542 ได้รับเลือกเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปี 2543 ได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

จากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทใบที่ 2 สาขาการเงินโลกที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และปริญญาโทใบที่ 3 สาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยแซงต์ กาลเลิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานในองค์การนอกภาครัฐกลุ่มเพื่อประชาชน กระทั่งนายพัฒนา บิดาของนายธนาธร เสียชีวิต จึงเข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัว ด้วยวัยเพียง 23 ปี

เคยร่วมเรียกร้องสิทธิเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน

เมื่อครั้งสมัยศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธนาธร ได้เข้าร่วมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม และในปี 2543 ขณะร่วมเรียกร้องสิทธิกับกลุ่มสมัชชาคนจน ได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ครั้งที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

เป็นที่ทราบกันดีว่านายธนาธร นั้น เป็นหลานของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน พรรคพลังประชารัฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร

โดยทั้ง 2 คน มีความเห็นต่างทางการเมือง อาทิกรณีที่นายธนาธร ไม่เห็นด้วยกับโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ เพราะมองว่าจะทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล นำไปสู่ความขัดแย้งกับนายสุริยะ เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร

เส้นทางธุรกิจของ ‘ธนาธร’

ภายหลังนายพัฒนา เสียชีวิต นายธนาธรต้องเข้ารับตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท โดยหลังจากที่เข้ามาบริหารธุรกิจของครอบครัวกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทได้เติมโตอย่างรวดเร็ว จากรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อขึ้นเป็น 8 หมื่นล้านบาท โดยมีโรงงานผลิตใน 7 ประเทศใหญ่ๆทั่วโลก และมีจำนวนพนักงานกว่า 1.6 หมื่นคน

นายธนาธร ตัดสินใจยุติบทบาท และลาออกจากตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ในช่วงเดือน พ.ค. 61 ซึ่งในช่วงระยะเวลา 16 ปี กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทเติบโตและมีการตัวทางภาคธุรกิจอย่างมาก ซึ่งนายธนาธร ให้เหตุผลที่ลาออกจากตำแหน่งว่า สนใจและต้องการทำงานในด้านการเมือง

จุดเริ่มต้นของ ‘พรรคอนาคตใหม่’

วันที่ 15 มี.ค.61 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ รศ. ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้สนับสนุนจำนวน 24 คน ได้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองภายใต้ชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และได้รับมติเห็นชอบ 473 เสียงจากที่ประชุมใหญ่ผู้จดจัดตั้งพรรค เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก

โดยนายธนาธร และทางพรรคอนาคตใหม่ ได้ประกาศเจตนารมณ์มาโดยตลอดว่า ไม่เอารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องอำนาจคืนสู่ประชาชน และกับสู่ระบอบรัฐสภา รวมทั้งผลักดันในมีการร่างรัฐธรรนูญขึ้นมาใหม่ โดยมีภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมกัน

ในช่วงการ ‘เลือกตั้ง 26’ พรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้งใน 30 เขต ซึ่งรับคะแนนเป็นอันดับ 3 รองจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย และเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯมากที่สุด

คดีถือหุ้นสื่อ บริษัทวี ลัด มีเดีย จำกัด

สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดประเด็นดังกล่าว ซึ่งบริษัทวี ลัคฯ มีการยื่นเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นก่อนการเลือกตั้งเพียง 3 วัน ต่อมาทางนายธนาธร ได้ชี้แจงว่าได้โอนหุ้นให้กับมารดา ไปตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.62 หรือ 1 เดือนก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว

ต่อมานายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นให้ กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ของ นายธนาธร จากกรณีถือหุ้นวี ลัคฯ กระทั่งวันที่ 16 พ.ค.62 กกต. มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพของนายธนาธร กรณีถือครองหุ้นสื่อ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6 )ประกอบมาตรา 98 (3)

และล่าสุดวันที่ 20 พ.ย. 62 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย สถานภาพ ส.ส. ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ศาลวินิจฉัยว่านายธนาธร กลับจากบุรีรัมย์มากรุงเทพในวันที่ 8 มกราคมจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีการโอนหุ้นกันจริง จึงต้องดูหลักฐานอื่นๆ ประกอบด้วย แต่เมื่อดูแล้วพบว่านายธนาธร ยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในวันที่ลงสมัครเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ เป็นลักษณะต้องห้าม ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2562

อย่างไรก็ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง ได้ระบุว่า ตามศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ตัดสิทธิทางการเมือง นายธนาธร จึงสามารถทำหน้าที่หัวหน้าพรรค และ กรรมาธิการวิสามัญ ได้ ซึ่งคุณสมบัติที่ขัดต่อการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นผลต่อการสมัครครั้งที่ผ่านมา หากมีการแก้ไขคุณสมบัติแล้ว ก็สามารถกลับมาสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้