ประเด็นน่าสนใจ
- ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พาภรรยาและญาตินายอับดุลเลาะฯ ที่เสียชีวิตหลังจากถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม
- ญาติยังต้องการให้ DSI ให้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ นายปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เดินทางพร้อม น.ส.ซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ และนายโมฮัำมัด รอฮัด มามุ ลูกพี่ลูกน้อง
หลังนายอับดุลเลาะ เสียชีวิตหลังจากถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มาติดตามความคืบหน้าหลังได้ยื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อขอให้รับคดีและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ ที่ไม่รู้สึกตัวเพราะสมองตาย
ภายหลังการถูกควบคุมตัวเพียง 13 ชั่วโมงตามกฎหมายพิเศษ(อัยการศึก) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 และเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ซึ่งครอบครัวของนายอับดุลเลาะสงสัยว่าอาจถูกทรมานจากเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวจนเสียชีวิตดังกล่าว ประกอบกับปัจจุบันคดีผ่านมากว่า 40 วันแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า
นายปรีดา ทนายความ เปิดเผยว่า วันนี้พนักงานสอบสวนให้ญาติผู้เสียชีวิตเข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติม เพื่อนำไปพิจารณาว่า จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งตนเองอยากให้ DSI รับคดีนี้ไว้ เพราะที่ผ่านมาได้ไปยื่นเรื่องกับหลายหน่วยงานแต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นทหาร การเข้าถึงข้อมูลความั่นคงของญาติเป็นไปได้ยาก จึงอยากให้DSI สืบเสาะและสืบสวนให้ปรากฎความจริง โดยเฉพาะทหารที่เข้ามาควบคุมตัวนายอับดุลเลาะ
ทั้งนี้ภรรยาของ นายอับดุลเลาะ เผยว่า ภายหลังจากที่สามีเสียชีวิต ความเป็นอยู่ของครอบครัวก็ลำบาก ซึ่งครอบครัวยังรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ตนยังจำวินาทีที่ทหารเข้ามาเชิญตัวสามีไปยังศูนย์ซักถามได้ และไม่คิดมาก่อนว่าการที่สามีออกไปกับทหารครั้งนั้น จะไม่มีโอกาสกลับมาอีกเลย
ขณะที่นายโมฮำมัดรอฮัด ลูกพี่ลูกน้อง ระบุว่า นายอับดุลเลาะเป็นเสาหลักของครอบครัว ทางญาติต้องการทราบข้อเท็จจริงระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากนายอับดุลเลาะไม่ได้แสดงอาการขัดขืน
อีกทั้งยังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่ในระยะเวลาเพียง 8 ชั่วโมง กลับถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการสมองบวม ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อขอประวัติจากโรงพยาบาล ในพื้นที่ก็ไม่พบว่า นายอับดุลเลาะ เคยมีอาการป่วย หรือเข้ารับการรักษา
ซึ่งตนเองอยากฝากไปยังรัฐบาล ให้พิจารณาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไปจนไม่สามารถตรวจสอบได้ หลายครั้งที่พบว่าผู้ต้องสงสัย ถูกซ้อม ทรมานจากกฎหมายพิเศษ จนเสียชีวิตหลายราย
อย่างไรก็ตาม DSI อยู่ระหว่่างสอบปากคำภรรยา และทนาย โดยเป็นการสอบปากคำในประเด็นตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ระหว่่างที่เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวนายอับดุลเลาะ จนกระทั่งอยู่ภายในศูนย์ซักถาม และเมื่อทราบข่าวว่านายอับดุลเลาะ เข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาล รวมถึงหลักฐานอื่นๆที่ญาตินำมามอบให้ ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาในการประชุม เพื่อตรวจสอบว่าจะเข้าข่ายรับเป็นคดีพิเศษในครั้งต่อไป