Nice Review ข่าวสดวันนี้ ทำงานผ่านเน็ต แชร์ลูกโซ่

เปิดปูม ‘Nice Review’ จากโมเดลการ ‘ทำงานผ่านเน็ต’ สู่ ‘คดีแชร์ลูกโซ่’

นับว่าในช่วงที่ผ่านมา มีคดีการหลอกลวงประชาชนให้เสียทรัพย์ที่มาในลักษณะของการ ‘แชร์ลูกโซ่’ ปรากฎให้เห็นผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแชร์วงใหญ่อย่างแชร์แม่มณี และ Forex 3d ที่มีมูลค่าความเสียหายกว่าหลักพันล้านบาท ดูเหมือนว่ายุคนี้ วงแชร์ในลักษณะดังกล่าว จะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพราะล่าสุด ได้มีแชร์ลูกโซ่ ที่มาในลักษณะของการ…

Home / NEWS / เปิดปูม ‘Nice Review’ จากโมเดลการ ‘ทำงานผ่านเน็ต’ สู่ ‘คดีแชร์ลูกโซ่’

ประเด็นน่าสนใจ

  • Nice Review บริษัทที่เปิดรับสมาชิกให้เข้ามาร่วม กดไลค์ กดแชร์ หรือแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์บนเฟซบุ๊กของลูกค้าในเชิงบวก โดยจะมีการจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นรายวัน
  • สมาชิก Nice Review จะต้องวางเงินประกันให้บริษัท หากยิ่งวางเงินมาก ก็จะยิ่งได้รับผลตอบแทนมาก โดยผลตอบแทนสูงสุดอยู่ที่วันละ 200 บาทต่อบัญชี ซึ่งสมาชิก 1 คนสามารถเปิดกี่บัญชีก็ได้ ทำให้สมาชิกเข้าใจว่า สามารถสร้างรายได้จากการเป็นสมาชิกแบบ ‘ไม่มีเพดาน’
  • หลังจากมีสมาชิกมาลงเงินเป็นจำนวนมาก บริษัทกลับปรับปรุงระบบ 90 วันจนกระทั่งขณะนี้ไม่มีใครสามารถติดตามตัวซีอีโอของบริษัทได้ คาดว่าน่าจะนำเงินหลบหนีออกไปต่างประเทศแล้ว

นับว่าในช่วงที่ผ่านมา มีคดีการหลอกลวงประชาชนให้เสียทรัพย์ที่มาในลักษณะของการ ‘แชร์ลูกโซ่’ ปรากฎให้เห็นผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแชร์วงใหญ่อย่างแชร์แม่มณี และ Forex 3d ที่มีมูลค่าความเสียหายกว่าหลักพันล้านบาท

ดูเหมือนว่ายุคนี้ วงแชร์ในลักษณะดังกล่าว จะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพราะล่าสุด ได้มีแชร์ลูกโซ่ ที่มาในลักษณะของการ ‘แชร์ออนไลน์’ วงแตกไปแล้วอีกหนึ่งวง โดยวงแชร์ดังกล่าวมีชื่อว่า ‘Nice Review’ ที่ล่าสุดกลุ่มผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปร้องทุกข์ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลายคนคงจะคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า ‘ทำงานผ่านเน็ต’ ที่อาจจะดูเหมือนเป็นช่องทำกินผ่านโลกออนไลน์ทั่ว ๆไป โดยการทำงานในลักษณะนี้ มักใช้คำโฆษณาจูงใจให้คนมาร่วมงานว่า สามารถทำงาน ทำเงินได้ ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังมีอิสระ ไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้านไปไหน มีรายได้ แถมไม่ต้องขายของให้เหนื่อย ฟังเผิน ๆ อาชีพเหล่านี้ ดูจะเหมาะกับแม่บ้าน หรือเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องการรายได้เสริมอยู่ไม่น้อย

ทว่าเมื่อฟังเงื่อนไขดูแล้ว ‘Nice Review’ อาจจะดูเหมือนการทำงานผ่านเน็ตทั่ว ๆ ไป แต่กลับกลายมาเป็นคดีแชร์ลูกโซ่ได้อย่างไรนั้นวันนี้ทีมงาน Mthai จะเจาะข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ได้อ่านกัน

‘Nice Review’ อ้างตัวเป็นบริษัทโฆษณารูปแบบใหม่ ที่ใช้ทุนจดทะเบียบสูงกว่าร้อยล้านบาท โดยเปิดให้สมาชิกสมัครเข้ามาช่วยโปรโมทโพสต์ของลูกค้าด้วยการ กดไลค์ หรือเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเชิงบวก รวมไปถึงแชร์โพสต์ เพื่อเพิ่มยอดขาย หรือสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ และจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะยิ่งโพสต์มาก ยิ่งได้มาก

ซึ่งบริษัทมีการกำหนดจำนวนโพสต์แล้วแต่แพคเกจที่สมาชิกเลือก โดยสมาชิกต้องทำการวางเงินประกันให้บริษัท ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนแตกต่างกันไป ยิ่งสมาชิกวางเงินประกันสูง ก็จะยิ่งได้รับค่าตอบแทนสูง โดยแพคเกจสูงสุดจะอยู่ที่การลงทุน 2 หมื่นบาท และจะได้รับเงินตอบแทนวันละ 200 บาท แต่สมาชิกสามารถลงเงินไว้กี่บัญชีก็ได้ เพราะยิ่งลงเงินมาก ก็จะยิ่งได้ผลตอบแทนมาเช่นกัน

ระบบการวางเงินประกันของ ‘Nice Review’

ทั้งนี้สัญญามีระยะเวลานาน 3 เดือน โดยบริษัทอ้างว่า หลังจากสิ้นสัญญาสมาชิกจะได้รับเงินคืนทั้งเงินประกันและค่าแรงที่ทำไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งผลตอบแทนจะอยู่ที่รายละสูงสุดอยู่ที่ราว ๆ  18,000 บาท แถมยังอ้างว่า เงินที่ได้มายังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ หักภาษี 3% ณ ที่จ่ายได้ ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก แต่ระยะหลังบริษัทเริ่มไม่มีการจ่ายเงิน และปิดตัวหนีไป ทำให้มีผู้เสียหายมากมาย และมีมูลค่าความเสียหายนับสอบล้านบาท

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น มีกลุ่มผู้เสียหายด้วยกันพบว่าจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 800 ราย แล้ว แต่ละรายได้รับความเสียหายเป็นเงินตั้งแต่หลักแสนบาทไปจนถึงหลายสิบล้านบาท

 

  • รู้จัก บอสต้น CEO Nice review

นาย ‘ณรงค์’ ที่มีการอ้างว่าเป็นซีอีโอของ Nice review

จากข้อมูลของเครือข่าย Nice review ที่มักมีการสร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัทด้วยการระบุข้อมูลในการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 100 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการเปิดภาพที่อ้างว่าเป็นนาย ‘ณรงค์ อินลี’ ซีอีโอของ Nice review แต่ไม่ปรากฏข้อมูลหรือรายละเอียดส่วนตัวใด ๆ

เบื้องต้นขณะนี้ นายณรงค์ถูกยึดทรัพย์สิน เป็นเงินสด จำนวน 100 ล้านบาท ทรัพย์สินจำนวนนี้ ยังไม่รวม บ้าน กับรถ และถูกตั้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และกำลังสอบสวนว่านายณรงค์ มีความผิดในข้อหาฟอกเงินอีกหรือไม่ ซึ่งล่าสุดสามารถจับกุม บุคคลที่พานายณรงค์ หลบหนีออกนอกชายแดน และกำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวน โดยจะถูกตั้งข้อหา ช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเพื่อไม่ให้รับโทษ

นาย ‘ณรงค์’ ที่มีการอ้างว่าเป็นซีอีโอของ Nice review

 

  • กลไกในการลวงเหยื่อ

ผู้เสียหายบางคนได้รับการแนะนำและชักชวนจากคนรู้จักเกี่ยวกับ Nice Review  โดยผู้ที่เข้าร่วมทำงานต้องมีเฟซบุ๊คที่มีเพื่อนมากกว่า 400 คน และจะทำงานด้วยการกดไลด์กดแชร์โพสต์โฆษณาสินค้าที่บริษัทนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก แต่การจะเข้าร่วมงานได้และได้รับผลตอบแทนนั้น จะต้องสมัครเป็นสมาชิกพร้อมทำสัญญาจ้างงานกับบริษัท โดยมีระยะเวลานาน 3 เดือน ซึ่งสมาชิกต้องวางเงินที่อ้างว่าเป็นประกันความเสียหายให้กับทางบริษัท 

ทว่าสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเหยื่อไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่รูปแบบอื่น ๆ  และทำให้เหยื่อตัดสินใจนำเงินมาวางให้บริษัทนั้น เพราะตอนแรกบริษัท มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้สมาชิกจริง จึงดึงดูดให้เหยื่อรายใหม่ตบเท้ากันนำเงินเข้ามาลงทุนในระบบนี้อีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนเรตการทำงาน สมาชิกจะสามารถเลือกวางเงินได้ตั้งแต่ 1,500 บาท,3,000 บาท,4,500 บาท,10,000 บาท และ 20,000 บาท เพื่อรับค่าตอบแทนจากการทำงานวันละ 20 บาท,40 บาท,60 บาท,100 บาท และ 200 บาท ตามลำดับ จากการกดไลค์กดแชร์โพสต์ 5 โพสต์,10 โพสต์,15 โพสต์,18 โพสต์ และ 20โพสต์  โดยผู้สมัคร 1 ราย สามารถลงทุนได้ไม่จำกัดจำนวนพอร์ต จึงทำให้มีมูลค่าความเสียหายในคดีสูงลิบลิ่ว

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไข  ‘งานไม่จบ ไม่จ่ายตัง’ หากสมาชิกไม่สามารถทำงานให้ครบในแต่ละวันหรือไม่ได้ทำงานเลย ระบบจะหักเงินประกันจากที่จ่ายเมื่อครั้งสมัครเข้ามา ตามจำนวนรายได้ของแต่ละวัน โดยอ้างว่าเพื่อคุณภาพและปริมาณงานที่จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดที่ควรจะเป็น ทั้งสมาชิกยังไม่สามารถเบิกเงินล่วงหน้าหากยังไม่ครบตามระยะเวลา 3 เดือนตามที่ตกลงกันไว้ แต่หากมีความจะเป็นต้องถอนเงินประกันออกไปก่อน เงินค่าจ้างจากการโพสต์ แชร์ ไลค์ ที่ทำมานั้น สมาชิกก็จะไม่มีสิทธิได้รับแม้แต่บาทเดียว

  • ขายฝัน

Nice Review ใช้ถ้อยคำโฆษณาชวนเชื่อเหยื่อด้วยการใช้ข้อความ ‘ขายฝัน’ และพูดถึงการหารายได้เสริม ที่มีความเป็นอิสระ ในการโฆษณารูปแบบใหม่ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการอ้างว่า บริษัทมีเครือข่ายธุรกิจหลายธุรกิจ และ Nice Review เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท ในด้านการโฆษณา และมีรายได้จากหลายทางในการบริหารจัดการกลุ่มบริษัท เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจ และมีรายได้หมุนเวียน เพื่อให้สามารถจ่ายรายได้ให้กับพนักงานที่ทำงานให้บริษัทได้ พร้อมเคยยืนยันว่า Nice Review ไม่ใช่ธุรกิจเครือข่ายหรือขายตรงใด ๆ

นอกจากนี้หากสมาชิก แนะนำเพื่อนมาเข้าร่วมทำงานกับ Nice Review บริษัทก็จะจูงใจสมาชิกด้วยการจ่ายค่าสอนงานซึ่งแบ่งเป็น 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 ได้ 10% และชั้นที่ 2 และ 3 ได้ 5 % โดยรายได้ค่าแนะนำจะได้จากการทำงานในแต่ละวันที่สมาชิกได้รับ เช่น สมาชิกชั้นที่ 1 ลงแพ็กเกจ 20,000 บาท พอสมาชิกที่แนะนำมาทำงานเสร็จ ได้ 200 บาท ผู้แนะนำก็จะได้ด้วย 10% ของ 200 บาทก็เท่ากับ 20 บาท

  • รูปแบบการทำงานของสมาชิก

สมาชิกจะทำงานกันแบบไม่ต้องออกไปจากบ้านไปไหนก็ทำงานได้ เพียงแค่กด Like งานโฆษณาบน Facebook และรับรายได้จากการ คอมเม้นท์บนโพสต์ต่าง ๆ ที่บริษัทอ้างว่าเป็นลูกค้า ในลักษณะเชิงบวกให้กับเพจนั้นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้า รวมถึง Share สินค้าบน Facebook ของสมาชิกเองโดยสมาชิกต้องเปิดเป็นโพสต์เป็นสาธารณะ

ทั้งนี้ Nice review จะมีระบบในการให้สมาชิกทำงานเพื่อโปรโมทโพสต์ต่าง ๆ ด้วยการสร้างปุ่มแชร์ Comment ไลค์แบบอัตโนมัติเพื่อให้สมาชิกทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อกดปุ่มเหล่านี้ ก็จะมีการบันทึกจำนวนการทำงานของสมาชิกในระบบ เพื่อดูว่าสมาชิกทำงานครบถ้วนหรือไม่ในแต่ละวัน

โพสต์ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ที่สมาชิกจะต้องเข้าไปกดไลค์ กดแชร์ หรือกดแสดงความคิดเห็นในเชิงบวก
ระบบที่แสดงจำนวนการทำงานของสมาชิก Nice Review ในการแชร์ Comment และ กดไลค์ในแต่ละวัน
  • ตั้งสกุลเงินดิจิตอล เพื่อจ่ายค่าตอบแทนสมาชิก

Nice Review มีการออกประกาศในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ระบุถึงระบบการจ่ายเงินผู้สมัครรูปแบบใหม่ โดยผู้สมัครจะต้องโอนเงินค่าสมัครเข้าไปใน ระบบ Bitkub (เว็บเทรดเงินคริปโตเว็บใหม่) และต้องซื้อเหรียญที่ชื่อว่า XLM ในการดำเนินการต่าง ๆ

เมื่อมีการโพสต์ แชร์ คอมเมนต์ ตามที่ตกลงกันแล้ว Nice Review จะมีเงื่อนไขโอนค่าตอบแทนเป็นเหรียญ XLM ให้แก่สมาชิก โดยสมาชิกจะต้องผูกรหัสสมาชิกเข้ากับ NRV wallet ซึ่งจะมีการจ่ายค่าตอบแทนผ่านระบบนี้ โดยมีการตั้งเงื่อนไขในเชิงข่มขู่ว่า หากไม่ทำการผูกรหัสกับระบบให้เรียบร้อย จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ทำงานร่วมกับระบบการทำงานรูปแบบใหม่ของบริษัท

นอกจากนี้ ในประกาศของบริษัท Nice review ที่ออกประกาศเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาบริษัทฯ ออกประกาศอ้างว่า จะมีการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และต้องใช้เวลาถึง 90 วัน ทำให้สมาชิก จะไม่สามารถดำเนินการถอนเงินจากระบบของบริษัทได้ โดยมีสมาชิกเข้ามาแสดงความคิดเห็นบนโพสต์ ภายในกลุ่มปิดบนเฟซบุ๊กว่า ไม่สามารถถอนเงินในระบบของบริษัทออกมาได้ ทั้งเงินประกัน และเงินจากการโพสต์ แชร์ ไลค์ ที่ทำมา จนกระทั่งมีข่าวว่านาย ‘ณรงค์ อินลี’ ซีอีโอของ Nice review ได้หอบเงินหลบหนีไปที่ประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว

ไลค์-แชร์-คอมเมนท์ ในกรณีของ Nice Review อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา

ก่อนหน้านี้กรมสอบสวนคดีพิเศษออกมาระบุด้วยว่า ธุรกิจ Nice Review อาจเข้าข่ายความผิดอาญา เนื่องจากการกดไลค์ กดแชร์ และให้ความคิดเห็น หรือคอมเมนท์ ไม่ได้เกิดจากความต้องการหรือความคิดเห็นที่แท้จริง จึงอาจทําให้ ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อในสินค้าหรือบริการว่ามีคุณภาพหรือจริงดังคําโฆษณาทั้งที่ไม่เป็นความจริง

พฤติการณ์ ดังกล่าวอาจเป็นการสนับสนุนการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 ในเรื่องการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมในส่วนรวม

รวมถึงอาจเป็น ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) และ (5) ในการนําเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน รวมทั้งการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่มีลักษณะดังกล่าวก็เป็นความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจําคุกด้วย

 

ท้ายที่สุดนี้ แชร์ลูกโซ่วงต่าง ๆ อาจจะมีชื่อ และมีกลไล หรือรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่ผันเปลี่ยน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างไปจากเดิมคือ ไม่ว่าจะยุคไหน แชร์ลูกโซ่ก็ยังใช้วิธีเดิม ๆ ในการล่อลวงเหยื่อ อาทิ การชูธุรกิจ ที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจ จูงใจด้วยการลงทุนในระยะสั้นแต่จ่ายผลตอบแทนสูง โดยจะนําเงินจากผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่จ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกเก่าเพื่อให้เห็นว่าธุรกิจสามารถดําเนินการได้จริง แต่หลังจากระดมทุนได้มากแล้ว จะหยุดดําเนินการและหลบหนีไปพร้อมเงินของผู้เสียหายล้วนแล้วทั้งสิ้น.