ประเด็นน่าสนใจ
- เมื่อช่วงเช้า ‘โอ๊ค พานทองแท้’ เดินทางมาศาลอาญาฯ เพื่อรับฟังคำพิพากษาคดีทุจริตฟอกเงินธนาคารกรุงไทย
- ศาลพิพากษายกฟ้อง ‘โอ๊ค พานทองแท้’
- เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้
สำหรับคดีนี้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 ต.ค.61 กรณีนายพานทองแท้รับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาทเข้าบัญชี โดยเงินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยเงินกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อายุ 80 ปี ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ อายุ 53 ปีบุตรชาย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทยตกเป็นจำเลย คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมา นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยมี คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร มารดา พร้อมด้วย น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร น้องสาวทั้งสองคน รวมถึงสมาชิกในครอบครัวเดินทางมาร่วมให้กำลังใจ
ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษา ยกฟ้องนายพานทองแท้ ไม่ผิดฐานฟอกเงิน เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่านายพานทองแท้จำเลยได้รู้ที่มาของเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ โอนเข้าบัญชีว่านายวิชัยได้มาจากการกระทำผิดทุจริตการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย
ขณะที่รับโอนเงินจำเลยมีอายุเพียง 26 ปี และขณะนั้นมีเงินรายได้จากหุ้นในบริษัทอยู่แล้ว ถึง 4,000 ล้านบาทโดยเมื่อเทียบกับเงิน 10 ล้านบาทแล้วคิดเป็น 0.00 25 เปอร์เซ็นต์จากยอดเงินดังกล่าว ขณะที่โจทก์นำสืบได้เพียงว่าขณะที่รับโอนหุ้นในพานทองแท้ เป็นบุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตรและมีความสนิทสนมกับครอบครัวของนายวิชัยเพียงเท่านั้น
ย้อนรอยคดีฟอกเงิน ธ.กรุงไทย – โอ๊ค พานทองแท้
คดีฟอกเงินกรุงไทยนั้นเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มกฤษดานคร ได้ยื่นกู้เงินจำนวนกว่า 9 พันล้านบาท เพื่อใช้หนี้แก่ธนาคารกรุงเทพ ในช่วงปลายปี 2546 โดยในขณะนั้น บมจ.กฤษดามหานคร ถูกจัดอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ทีไ่ม่ก่อให้เกิดรายได้
ซึ่งคตส. ไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่า เป็นการกระทำโดยมิชอบ และเกิดขึ้นกับองค์กรของรัฐ (ธนาคารกรุงไทย) จึงได้มีการฟ้องคดีว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต ในการฟื้นฟูกิจการโดยมิชอบ จนนำมาสู่การตัดสินความผิดกับผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ โดยเป็นคดีหลัก
โดยจากจำนวนเงินกว่า 9 พันล้านในคดีหลักนั้น ได้มีการนำจ่ายเช็คของ 1 ในผู้ต้องหาในคดี มายัง นายพานทองแท้ ชินวัตร โดยลูกของหนึ่งในผู้ต้องหา มีความสนใจในการทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์ จากต่างประเทศ จึงได้ร่วมกันทำธุรกิจดังกล่าว กับนายพานทองแท้ โดยนำเช็คจำนวน 10 ล้าน ที่เกี่ยวข้องกับคดีหลัก
จึงได้มีการสั่งฟ้องแยก นายพานทองแท้ ในประเด็นของเช็คเงิน 10 ล้าน ว่าเป็นการจ่ายเช็ค รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพสินทรัพย์ หรือปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ในฐานความผิดของการฟอกเงิน นั่นเอง