ผ่าคลอด ฤกษ์ยาม สูตินรีแพทย์

หมอสูตินรีแพทย์ ไม่เห็นด้วยคลอดลูกตามฤกษ์ยาม

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ประธานอนุกรรมการการศึกษา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสูตินรีแพทย์ กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ ไม่เห็นด้วยกับการผ่าตัดตามฤกษ์ยาม เพราะการผ่าตัดคลอด ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น คือ เมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือเมื่อมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรง…

Home / NEWS / หมอสูตินรีแพทย์ ไม่เห็นด้วยคลอดลูกตามฤกษ์ยาม

ประเด็นน่าสนใจ

  • นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ ไม่เห็นด้วยคลอดลูกตามฤกษ์ยาม
  • พร้อมระบุการผ่าคลอด ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น
  • สนับสนุนให้คนหันมาคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ประธานอนุกรรมการการศึกษา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสูตินรีแพทย์ กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ ไม่เห็นด้วยกับการผ่าตัดตามฤกษ์ยาม เพราะการผ่าตัดคลอด ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น คือ เมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือเมื่อมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรง จนไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้

ซึ่งตรงนี้ทางราชวิทยาลัยฯ เคยประกาศจุดยืนเกี่ยวกับการผ่าตัดคลอด เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ชัดเจนว่า การผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

นพ.โอฬาริก กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่สนับสนุนการผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เนื่องจากการผ่าคลอดมีความเสี่ยงทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้น เสี่ยงเสียเลือดมาก อวัยวะข้างเคียงอาจบาดเจ็บ ทั้งลำไส้ กระเพาะอาหาร และยังเสี่ยงแผลติดเชื้อ รวมไปถึงความเสี่ยงจากการดมยา ส่วนความเสี่ยงระยะยาว อาจทำให้มดลูกแตกในท้องได้ หรืออัตรารกเกาะติดฝังตัวก็มีสูง และอาจมีความเสี่ยงต้องตัดมดลูก รวมไปถึงเสี่ยงรกฝังตัวจนทะลุกระเพาะปัสสาวะ

“แม้การผ่าคลอดจะมีความเสี่ยงอยู่มาก แต่ที่ผ่านมากลับพบตัวเลขการผ่าคลอดสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า การผ่าตัดคลอดไม่ควรเกิดค่าเฉลี่ยร้อยละ 25-30 ดังนั้น จึงมีการรณรงค์เพื่อให้มีการคลอดโดยธรรมชาติ แต่ก็ยังมีความเชื่อทั้งเรื่องถือฤกษ์ยามกำหนดการคลอดบุตร รวมไปถึงความเข้าใจว่าการคลอดเองตามธรรมชาติ จะเจ็บปวดมาก ทั้งจากละคร ทั้งจากคำบอกเล่า แต่จริงๆ การคลอดธรรมชาติอย่างไรก็ปลอดภัยสุด แม้ในภาวะครรภ์เป็นพิษ ยังมีข้อแนะนำว่า ควรให้ยาเร่งคลอดก่อน เพื่อให้มีการคลอดตามธรรมชาติ จนไม่สามารถคลอดเองได้จึงจะผ่าคลอด โดยทั้งหมดต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นสำคัญ” นพ.โอฬาริก กล่าว

ประธานอนุกรรมการการศึกษา ราชวิทยาลัยสูติฯ กล่าวว่า สำหรับการรณรงค์ให้คนหันมาคลอดด้วยวิธีธรรมชาตินั้น ทางประเทศไทย ร่วมกับ 3 ประเทศ คือ อาร์เจนตินา เวียดนาม บูร์กินาฟาโซในแอฟริกา และองค์การอนามัยโลก ร่วมกันทำการศึกษา เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดทำคลอด ทั้งสาเหตุ ผลลัพธ์ ฯลฯ เป็นต้น

ข้อมูลจาก : www.hfocus.org