ประเด็นน่าสนใจ
- เจาะกลยุทธ์โปรฯตั๋วเครื่องบิน 0 บาท
- แม้จะเป็นโปรฯ 0 บาท แต่ผู้โดยสารต้องจ่ายบริการเสริมอื่นๆอีก
- เพิ่มปริมาณผู้โดยสารในเที่ยวบินนั้นๆ ให้มากขึ้น ดีกว่าปล่อยที่นั่งให้เสียเปล่า
โดยปกตินั้นสายการบินจะมีการกำหนดราคาไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นจุดหมายเดียวกัน เดินทางเวลาเดียวกัน โดยตั๋วเครื่องบิน 0 บาท จะมีเฉพาะบางเที่ยวบิน และมีปริมาณที่จำกัดตามที่นั่งทั้งหมดบนเครื่อง ตั๋วลักษณะนี้มักถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์การตลาด
สำหรับเส้นทางการบินที่ได้รับความนิยมน้อย เพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในเที่ยวบินนั้นๆ ให้มากขึ้น ดีกว่าปล่อยที่นั่งให้เสียไปเปล่าๆ เพราะต้นทุนหลักของสายการบินคือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และ ค่าพนักงาน ไม่ว่าจะที่นั่งเต็ม หรือไม่เต็ม ก็มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกันมากนัก
ดังนั้น การทำโปรโมชันมาเติมที่นั่งให้เต็ม ไม่ได้ทำให้สายการบินต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และในความเป็นจริง ถึงแม้ว่าเราสามารถจองตั๋วเครื่องบิน 0 บาทได้ แต่จะมีค่าบริการเสริมและค่าธรรมเนียมต่างๆ อีก เช่น ภาษีสนามบิน ค่าประกันเดินทาง ค่าเพิ่มน้ำหนักกระเป๋า หรือแม้แต่ค่าอาหารว่างบนเครื่องบิน
อีกสิ่งหนึ่งที่สายการบินจะได้นั่นคือ “การรับเงินค่าโดยสารล่วงหน้า” ก่อนที่ลูกค้าจะมาใช้บริการ เพราะปกตินั้น ตั๋วลักษณะดังกล่าวลูกค้ามักต้องจองล่วงหน้าเป็นช่วงเวลานานพอสมควร หมายความว่า สายการบินจะมีเงินทุนมาใช้หมุนเวียนก่อน
โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปหาแหล่งเงินทุนที่เสียดอกเบี้ย เรื่องนี้ก็จะทำให้สายการบินประหยัดต้นทุนทางการเงินได้อีกด้วย เรื่องนี้ยังไม่รวม การประชาสัมพันธ์สายการบินไปในตัว เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นการโฆษณา ที่ใช้ผู้โดยสารหลายคนช่วยทำหน้าที่แทน เพราะตั๋วที่ราคาถูก ทำให้คนส่วนใหญ่มักบอกกันปากต่อปาก เป็นการสร้าง Brand awareness โดยที่สายการบินแทบไม่ต้องไปจ่ายค่าโฆษณาให้เปลืองงบประมาณ