DSI

DSI ปฏิญาณตน “ข้าราชการ DSI ไร้ทุจริต”

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ นายมณฑล แก้วเก่า และพันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล…

Home / NEWS / DSI ปฏิญาณตน “ข้าราชการ DSI ไร้ทุจริต”

ประเด็นน่าสนใจ

  • อธิบดีดีเอสไอ นำข้าราชการปฏิญาณตน “ไร้ทุจริต ยืนหยัดต่อสู้ความอยุติธรรม ไม่เกรงกลัวอิทธิพล”
  • เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษครบรอบปีที่ 17

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์

นายมณฑล แก้วเก่า และพันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวนกว่า 1,000 คน ร่วมปฏิญาณตน “ข้าราชการ DSI ไร้ทุจริต” และ ผนึกกำลังสามัคคีแสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการที่จะยึดถือค่านิยมร่วม “เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ และซื่อสัตย์” เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์และส่งสารสู่สาธารณชน

เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ปีที่ 17 พร้อมทั้งจัดพิธีสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์สมณศักดิ์ จำนวน 10 รูป ณ บริเวณโถงกลาง ชั้น G และบริเวณด้านข้างอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 36 กำหนดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในคดีพิเศษ

ตลอดระยะเวลา 16 ปี ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งด้านการบริหารราชการ การปฏิรูปและปรับปรุงกฎหมาย การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ และระบบวิธีการปฏิบัติงาน ภายใต้บริบทแวดล้อมทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นองค์การที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุกด้านอยู่เสมอ พร้อมทั้งยึดถือ “ความซื่อสัตย์สุจริต” และ “ความรักสามัคคี” เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งเสมือนเป็นพลังและความเข้มแข็งขององค์การ และพร้อมยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ในการอำนวยความยุติธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์และความผาสุกของสังคมโดยรวม

ซึ่งพลังสามัคคีดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมและไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชื่อของ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ “ดีเอสไอ” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เมื่อพี่น้องประชาชนมีทุกข์ร้อนหรือภัยอันใด ชื่อของ “ดีเอสไอ” จะเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่ถูกกล่าวถึงเสมอ

ในมิติด้านการดำเนินคดีพิเศษนั้น ตั้งแต่มีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 17 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการสอบสวนดำเนินคดีพิเศษไปแล้วถึง 2,654 คดี

โดยดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว 2,497 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 157 คดี นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่รับไว้สืบสวนก่อนรับเป็นคดีพิเศษ ถึง 3,053 เรื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว 2,918 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 135 เรื่อง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แบ่งประเภทของอาชญากรรมที่รับไว้ดำเนินการเป็น 4 กลุ่มคดี ดังนี้

1.ด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชญากรรมด้านการเงิน การธนาคาร การภาษีอากร การฟอกเงิน การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การคลัง กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 803 คดี

2.ด้านอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ อาชญากรรม
ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มนี้มีการดำเนินคดี
ไปแล้วทั้งสิ้น 528 คดี

3.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 373 คดี

4.ด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ได้แก่ อาชญากรรมที่เป็นความผิดข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรม การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมที่กระทบต่อความมั่นคงประเทศ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และอาชญากรรมพิเศษอื่น ๆ กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 950 คดี

โดยคดีพิเศษที่ดำเนินการแล้วเสร็จนั้น เมื่อนำมาคำนวณมูลค่าความเสียหาย/ผลประโยชน์ที่ปกป้อง รักษา เรียกคืนให้แก่รัฐ เอกชน และประชาชนแล้ว มีมูลค่าถึง 599,425,112,300.49 ล้านบาท ในขณะที่ แต่ละปี กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาทเศษ เท่านั้น

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 กรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งมั่นในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยจะปรับปรุงระบบการปฏิบัติงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 และให้มีมาตรฐานในระดับสากล ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น สร้างการมีส่วนร่วมกับ

ทุกภาคส่วน เสริมสร้างระบบคุณธรรมและความโปร่งใสในการบริหารงานด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงร่วมกันให้คำสัตย์ปฏิญาณที่แสดงถึงปณิธานในอันที่จะปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ด้วยการ มุ่งรักษาเกียรติศักดิ์ ด้วยใจซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติภารกิจด้วยความเป็นมืออาชีพ เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์การเป็น องค์การหลัก

ในการบังคับใช้กฎหมายกับอาชญากรรมพิเศษตามมาตรฐานสากล” ด้วยกัน ตามนโยบายรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษก้าวไปสู่องค์กรชั้นนำของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจและเป็นที่เชื่อมั่น ศรัทธา เป็นที่พึ่งด้านการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนตลอดไป

ในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ปีที่ 17 นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่บุคลากร เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกันประกาศคำมั่นสัญญาค่านิยมร่วมและวัฒนธรรมองค์การของกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ตลอดจนข้าราชการและเจ้าหน้าที่จำนวนกว่า 1,000 คน ร่วมกันปฏิญาณตน “ข้าราชการ DSI ไร้ทุจริต” พร้อมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริต ซึ่งมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมในการป้องกัน ปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ และเพื่อปลุกจิตสำนึก สร้างค่านิยมในการยึดมั่น และร่วมมือกันปฏิบัติตามนโยบายการบริหารองค์การตามหลัก

ธรรมาภิบาลให้แก่บุคลากรของกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ของผู้ปฏิบัติงานในการยึดมั่น ดำรงตน ตามค่านิยมที่สำคัญ 3 ประการ คือ เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์ โดยมุ่งปฏิบัติงานให้บรรลุตามยุทธศาสตร์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนและพัฒนาองค์การอย่างยั่งยืน