ประเด็นน่าสนใจ
- กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น เริ่มเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 4 เพื่อควบคุมโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง
- บาร์และร้านอาหารถูกร้องขอไม่ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจำเป็นต้องปิดให้บริการภายในเวลา 20.00 น.
- ผู้เข้าร่วมงานกิจกรรมขนาดใหญ่ถูกจำกัดสูงสุดที่ 5,000 คน หรือร้อยละ 50 ของความจุของสถานที่
- โตเกียวประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2020
สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานว่ากรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น เริ่มเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 4 เพื่อควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง
คัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เผยว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 จากกรุงโตเกียว ในช่วงปิดเรียนภาคฤดูร้อนและช่วงวันหยุดเทศกาลบง (Bon holiday)
“เราขอให้ประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือ เนื่องจากการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งนี้คือเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถป้องกันการติดเชื้อทั่วประเทศจนกว่าการฉีดวัคซีนจะคืบหน้า” คาโตะแถลง โดยการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 4 ในกรุงโตเกียว ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 22 ส.ค. จะครอบคลุมช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกด้วย
ประชาชนบางส่วนแสดงความกังวลต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น แม้จะบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินรอบใหม่ก็ตาม เช่น โทชิฮิโระ นูมาตะ คนงานในเมืองโยโกฮามา ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่จะจัดการแข่งขันโอลิมปิกโดยไม่มีผู้ชม แต่ผมเชื่อว่ามันจะทำให้ประชาชนเดินทางมากขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้ผมกังวลว่าจำนวนผู้ป่วยอาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”
ภายใต้ภาวะฉุกเฉินครั้งนี้ บาร์และร้านอาหารถูกร้องขอไม่ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจำเป็นต้องปิดให้บริการภายในเวลา 20.00 น. รวมไปถึงสถานที่เชิงพาณิชย์แห่งสำคัญด้วยเช่นกัน ขณะที่ผู้เข้าร่วมงานกิจกรรมขนาดใหญ่ถูกจำกัดสูงสุดที่ 5,000 คน หรือร้อยละ 50 ของความจุของสถานที่
ทั้งนี้ โตเกียวประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2020 และครั้งที่ 2 ในเดือนมกราคม 2021 ก่อนที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สุงะ จะกำหนดให้โตเกียวอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 3 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเดิมมีกำหนดสิ้นสุดภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ แต่ถูกต่อเวลาไปจนถึงวันที่ 20 มิ.ย.
ต่อมา ในวันที่ 21 มิ.ย. ภาวะฉุกเฉินในโตเกียวถูกปรับเปลี่ยนเป็นภาวะกึ่งฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเมื่อไม่นานนี้ โตเกียวจึงจำเป็นต้องกลับมาประกาศภาวะฉุกเฉินเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังภาวะกึ่งฉุกเฉินผ่านไปราว 3 สัปดาห์
ที่มา : Xinhua