กินคีโต

เตือน! กินอาหารแบบ “คีโตเจนิค” ไม่ถูกวิธี เสี่ยงตับอ่อนอักเสบ-นิ่วที่ไต

นายสมิทธิ โชติศรีลือชา นักจิตวิทยาหน่วยโภชนศาสตร์คลินิก กองอายุรกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการลดน้ำหนักด้วยการบริโภคอาหารแบบคีโตเจนิค ในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 13 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การบริโภคอาหารคีโตเจนิค (Ketogenic) เป็นการจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล โดยเพิ่มสัดส่วนของไขมันในอาหาร…

Home / NEWS / เตือน! กินอาหารแบบ “คีโตเจนิค” ไม่ถูกวิธี เสี่ยงตับอ่อนอักเสบ-นิ่วที่ไต

ประเด็นน่าสนใจ

  • นักจิตวิทยาหน่วยโภชนศาสตร์คลินิก เผย กินแบบคีโตเจนิค น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงแรก แต่ก็มีอาการข้างเคียง
  • เสี่ยงในการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เสี่ยงในการเกิดนิ่วที่ไต
  • การบริโภคอาหารคีโตเจนิคให้เหมาะสมและปลอดภัย ควรคำนึงถึงชนิดของกรดไขมัน

นายสมิทธิ โชติศรีลือชา นักจิตวิทยาหน่วยโภชนศาสตร์คลินิก กองอายุรกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการลดน้ำหนักด้วยการบริโภคอาหารแบบคีโตเจนิค ในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 13 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การบริโภคอาหารคีโตเจนิค (Ketogenic) เป็นการจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล โดยเพิ่มสัดส่วนของไขมันในอาหาร เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะคีโตซิส

ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงแรก และเร็วกว่าวิธีควบคุมอาหารประเภทอื่น ประชาชนส่วนใหญ่จึงสนใจนำมาใช้ลดน้ำหนัก แต่ก็มีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ อาการขาดน้ำ อ่อนเพลีย ปวดหัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อารมณ์ฉุนเฉียว นอนไม่หลับ ท้องผูกหากได้รับใยอาหารจากผักผลไม้ไม่เพียงพอ ท้องเสีย ไขมันในเลือดผิดปกติ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วที่ไต เนื่องจากภาวะเป็นกรดในเลือดที่เพิ่มขึ้นจากคีโตนบอดี (ketone bodies) ทำให้เพิ่มการขับแคลเซียมและแมกนีเซียมออกทางปัสสาวะ ซึ่งการสูญเสียแคลเซียมที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ในระยะยาวมีมวลกระดูกลดลง มีรายงานถึงการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเต้นพริ้ว และเพิ่มความเสี่ยงในการขาดสารอาหาร

นายสมิทธิ กล่าวว่า การบริโภคอาหารคีโตเจนิคให้เหมาะสมและปลอดภัย ควรคำนึงถึงชนิดของกรดไขมันในการเลือกบริโภค เพราะมีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

และกระบวนการอักเสบในร่างกาย อีกทั้งอาหารคีโตเจนิคยังทำให้มีอาการข้างเคียง การสูญเสียสารอาหารวิตามิน เกลือแร่เพิ่มขึ้น และยังไม่มีรายงานถึงความปลอดภัยในระยะยาวอีกด้วย

ทั้งนี้ การบริโภคคีโตเจนิค อาจจะไม่สอดคล้องกับรูปแบบการบริโภคอาหารของคนไทยที่บริโภคข้าว แป้งเป็นหลัก จึงไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องและเกิดความล้มเหลวสูง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาว จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมและยั่งยืนมากกว่าในการรักษาสุขภาพและน้ำหนัก

นายสมิทธิ ยังกล่าวว่า การจะปฏิบัติตามแนวทางการบริโภคอาหารคีโตจีนิค ควรเริ่มจากค่อยๆ จำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหาร เช่น ลดปริมาณน้ำตาลจากเครื่องดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ของขนมหวานต่างๆ แล้ว จึงค่อยปรับลดปริมาณข้าวแป้ง ผลิตภัณฑ์เส้นธัญพืชที่มีแป้งต่างๆ รวมถึง นม ผลิตภัณฑ์นม และผลไม้

โดยเพิ่มสัดส่วนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ อาหารทะเลหรือเลือกแหล่งอาหารที่มีทั้งไขมันและโปรตีน เช่น ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน หมูยอ กุนเชียง ลูกชิ้น เพราะถึงแม้จะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อย แต่มีไขมันอิ่มตัวสูง ควรเพิ่มอาหารกลุ่มผัก โดยเน้นที่ผักใบเพื่อให้ได้วิตามิน เกลือแร่และใยอาหารและใช้น้ำมันปรุงประกอบอาหารตามความเหมาะสม

และการกินอาหารคีโตเจนิคไม่ได้กำหนดในเรื่องของการใช้เครื่องปรุงรส เว้นแต่ว่าต้องระวังเครื่องปรุงรสที่มีน้ำตาลและสารผสมที่อาจมีแป้งเป็นองค์ประกอบ จึงอาจจะพิจารณาสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในการปรุงรสอาหารเพื่อให้รสชาติหวานได้ ในส่วนของการประกอบอาหารคีโตเจนิคสามารถปรุงด้วยเครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆ ได้รวมถึงการปรุงด้วยรสเปรี้ยว เค็มและเผ็ด