คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษายิงตัวเอง ศาลจังหวัดยะลา

[สรุป] ปมคดีต้นเหตุ ผู้พิพากษายิงตัวเอง ที่ศาลจังหวัดยะลา

จากเหตุการณ์ที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ก่อเหตุใช้อาวุธปืนพกสั้นไม่ทราบขนาด ยิงตัวเองจนได้รับบาดเจ็บ หลังจากได้อ่านคำพิพากษาคดี ในห้องพิจารณาคดี บัลลังก์ 4 ภายในศาลจังหวัดยะลา จนเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีรายละเอียดในหลายปม ที่เป็นข้อสงสัย ข้อขัดแย้งกันอยู่ในประเด็นของเหตุผลที่ทำให้ทางนายคณากร…

Home / NEWS / [สรุป] ปมคดีต้นเหตุ ผู้พิพากษายิงตัวเอง ที่ศาลจังหวัดยะลา

ประเด็นน่าสนใจ

  • มิ.ย. 2561 เกิดเหตุยิงประชาชน เสียชีวิต 5 ศพ ที่ยะลา ก่อนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหา 5 รายในคดี โดยมีการควบคุมตัวโดยใช้กฎหมายพิเศษ
  • ต.ค. 2561 คดีเข้าสู่ชั้นศาล เริ่มการสอบคำให้การต่างๆ
  • มี.ค. 2562 นายคณากร เพียรชนะ ระบุว่า เริ่มมีการเรียกแก้ไขคำพิพากษาในคดีดังกล่าว จนมีการเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษา จาก 19 ส.ค. 62 เป็น 4 ต.ค. 2562
  • นายคณากร ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากพยานหลักฐานไม่สามารถเชื่อได้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดตามฟ้อง
  • ซึ่งไม่ตรงกับความเห็นของอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ที่นายคณากร ระบุไว้ในแถลงการณ์ ว่าถูกให้แก้ไขคำพิพากษาให้ จำเลยมีความผิด
  • 4 ต.ค. นายคณากร เพียรชนะ ได้ยิงตัวเอง หลังจากอ่านแถลงการณ์จบ จนทำให้เกิดกระแสความสนใจในคดีนี้

จากเหตุการณ์ที่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ก่อเหตุใช้อาวุธปืนพกสั้นไม่ทราบขนาด ยิงตัวเองจนได้รับบาดเจ็บ หลังจากได้อ่านคำพิพากษาคดี ในห้องพิจารณาคดี บัลลังก์ 4 ภายในศาลจังหวัดยะลา จนเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

โดยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีรายละเอียดในหลายปม ที่เป็นข้อสงสัย ข้อขัดแย้งกันอยู่ในประเด็นของเหตุผลที่ทำให้ทางนายคณากร เพียรชนะ ได้ยิงตัวเองเมื่อวานนี้

ปมข้อขัดแย้งในคำพิพากษา

  • คำพิพากษาของนายคณากร เพียรชนะ ให้ “ยกฟ้อง จำเลยทั้ง 5” เนื่องพยานหลักฐานไม่สามารถเชื่อได้ว่า จำเลยทั้ง 5 เป็นผู้ก่อเหตุ
  • นายคณากร เพียรชนะ ร่างคำพิพากษา รายงานให้กับทางสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจ โดยผู้พิพากษาศาลประจำภาค และรองอธิบดีผู้พิพากษา ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว
  • นายคณากร ระบุในเอกสารว่า เหตุผลของการไม่เห็นด้วยนั้นไม่มีน้ำหนักในการหักล้างคำพิพากษาของตนแต่อย่างใด
  • ในกรณีที่อธิบดีฯ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา จะต้องทำความเห็นแย้งติดสำนวนไว้ มิใช่การสั่งให้เขียนคำพิพากษาใหม่ ให้ลงโทษจำเลยทั้ง 5 ซึ่งนายคณากร เห็นว่าไม่ถูกต้องตามขั้นตอน
  • ผลของคำตัดสินนั้น หากให้จำเลยทั้ง 5 มีความผิด โทษที่จะได้รับคือ จำเลยที่ 1, 3, 4 จะได้รับโทษประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 2 และ 5 คือโทษจำคุกตลอดชีวิต
  • นายคณากร ถือว่า หากดำเนินการตามคำสั่งจะเป็นตราบาปไปตลอดชีวิต
  • สาเหตุที่ นายคณากร ตัดสินให้ยกฟ้องเนื่องจาก พยานหลักฐานของโจทก์ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และรับฟังข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำความผิด
  • ซึ่งนายคณากร ไม่ได้หมายความว่า จำเลยไม่ผิด จำเลยอาจจะผิดจริงก็ได้ แต่ในการกระบวนการยุติธรรม จำเป็นจะต้องให้ความยุติธรรม หลักฐานต่างๆ ต้องชัดเจน สิ้นข้อสงสัย
  • พยานหลักฐานทั้งหมดในคดี นายคณากร ระบุว่า เกิดขึ้นในขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัว ในฐานะผู้ต้องสงสัย ตามกฏหมายพิเศษ จึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ควรรับฟัง หรือให้น้ำหนักน้อยมากๆ และใช้ความระมัดระวังในรับฟัง
  • ในประเด็นของการออกคำสั่งให้แก้คำพิพากษา นายคณากรระบุว่า ผู้ออกคำสั่งมิได้สัมผัสพยานหลักฐานในขณะสืบพยานแม้แต่ชิ้นเดียว เหตุใดจึงให้กลับคำพิพากษาจากยกฟ้องเป็นลงโทษจำเลย

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา”
“คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”


“คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน”

นายคณากร เพียรชนะ

ปมพยานหลักฐานในคดีดังกล่าว

ในคดีดังกล่าว นายคณากร ได้เอ่ยถึงหลักฐานที่ระบุในคดีนี้ว่า

  1. คืนวันเกิดเหตุพนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจเก็บวัตถุพยาน แต่มีอาสาสมัครกู้ภัยนำมาให้ จึงทำให้ไม่มีน้ำหนักที่ให้รับฟังได้ เนื่องจากการปฏิบัติงานไม่รัดกุม
  2. พยานบุคคลรายแรกที่ถูกควบคุมตัวโดยการปิดล้อม โดยไม่มีเหตุข้อสงสัยที่ชัดเจน และจนท. ก็ไม่มีหลักฐานอื่นที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องของพยานรายนี้ กับคดีที่เกิดขึ้น ทำให้คำซัดทอดที่เกิดขึ้นและข้อเท็จจริง มีพิรุธ ต้องรับฟังโดยระมัดระวัง
  3. มือถือที่ระบุว่าเป็นของพยานรายนี้ พบในที่เปิดโล่ง ใครเข้าไปก็ได้ และไม่ปรากฏ DNA ของพยานบนมือถือนี้อีกด้วย นอกจากนี้ยังถูกจดทะเบียนในชื่อผู้อื่น จึงไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอให้เชื่อได้ว่า มือถือเป็นของพยานรายนี้
  4. พยานรายนี้อ้างเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด แต่ไม่ถูกดำเนินคดี จึงต้องระมัดระวังว่า เป็นการบังคับ ขู่เข็ญ จูงใจ หรือเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นมาหรือไม่
  5. พยานระบุว่า มีการยิงปืนหลายชนิด ต่อเนื่อง แต่กลับไม่พบหลักฐานปลอกกระสุน – หัวกระสุน ตามจำนวนและชนิดที่พยานกล่าวถึง
  6. จำเลยที่ 2 และ 5 นำเจ้าหน้าที่ ไปจุดที่มีการเก็บอาวุธไว้ แต่อาวุธที่พบเป็นปืนสั้น 9 มม. 1 กระบอก ซึ่งไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้แต่อย่างใด
  7. นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 และ 5 ยังได้อ้างว่า การรับสารภาพนั้น เป็นการขู่บังคับ ยิ่งทำให้พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้
  8. บันทึกคำให้การทั้งหมด เกิดขึ้นในระหว่างควบคุมตัว และจำเลยทั้ง 5 ก็ได้ปฏิเสธ พร้อมยืนยันว่า เป็นการถูกบังคับขู่เข็ญ

จากพยานหลักฐานทั้งหมดในคดีที่เกิดขึ้น ตามบันทึกของนายคณากร จึงเป็นสาเหตุให้นายคณากร ตัดสินใจในการพิจารณา ยกฟ้อง จำเลยทั้ง 5 ในคดีนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานที่นำมาประกบอกันนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง

ปมนิติกรบริการ

จากเหตุผลที่นายคณากร ระบุในเอกสาร กล่าวว่า หากการที่ผู้มีอำนาจ สั่งการแก้ไขคำพิพากษาที่เกิดขึ้นนี้ โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ มิได้สัมผัสพยานหลักฐานในคดี แต่สามารถชี้-พิพากษาได้ ก็ไม่ต่างจากการเป็น “นิติกรบริการ” นอกจากนี้ยังถือเป็นการเหยียดยามศักดิ์ศรีของผู้พิพากษาอีกด้วย หากไม่สามารถมีอิสระในการพิจารณาคดี

ซึ่งในเอกสารคำแถลงการณ์ของนายคณากร ได้อ้างถึงเหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้ ที่เกิดขึ้นกับผู้พิพากษาชั้นต้น ทั่วประเทศด้วย

ปมความอัดอั้น

ในแถลงการณ์ยังเอ่ยถึงปมความอัดอั้นในฐานะของความเป็นผู้พิพากษาชั้นต้นในหลายๆ ประเด็นคือ

  • การที่มีการสั่งให้ผู้พิพากษาแก้ไขคำพิพากษา ตามต้องการ เปรียบเหมือนกับการสั่งผู้พิพากษาให้ซ้ายหัน ขวาหันตามต้องการโดยอ้างระเบียบ เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้พิพากษาเกิดความไม่มั่นใจในคำพิพากษาของตน
  • เปิดโอกาสให้มีผู้มีอำนาจสามารถควบคุมผลคำพิพากษาได้ ซึ่งขัดกับ รธน. ของประเทศ
  • วิกฤติศรัทธา ที่ประชาชนมีต่อศาลยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศเสื่อมเสีย
  • ยกกรณีตัวอย่าง บ้านพักตุลาการ ป่าแหว่งแห่งเมืองเชียงใหม่ ที่ทำให้นายคณากร ไม่กล้าเอ่ยปากว่า ตนเองเป็นผู้พิพากษา
  • ความไม่เป็นธรรมในเรื่องรายได้ ที่ต้องเสียสละเวลาอย่างมาก ในการทำคดี โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน รวมทั้งไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ ได้ จึงทำให้ขาดความมั่นคงทางการเงิน จนนำไปสู่การแทรกแซง ชักจูงคำพิพากษาได้ง่าย
  • รายได้ไม่สูงมาก เทียบกับความกดดันที่มี ที่ต้องแบกรับความซับซ้อนของปัญหาในทางคดีที่เพิ่มขึ้น ต่อสู้กับอำนาจทั้งภายใน-ภายนอกที่จ้องจะแทรกแซงคำตัดสิน

พร้อมกันนี้ นายคณากร ยังได้เรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้องอีก 2 เรื่องด้วยกันคือ

  1. ขอให้สภานิติบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติม ห้ามมิให้มีการตรวจร่างคำพิพากษา และห้ามกระทำใดๆ ซึ่งจะเป็นการแทรกแซงคำตัดสิน
  2. สภานิติบัญญัติและนายกฯ ช่วยให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ซึ่งมีข้อขัดข้องทำใหไม่สามารถส่งเรื่องเสนอต่อสภานิติบัญญัติได้

คดีชนวนเหตุ

สำหรับคดีที่คาดว่าเป็นชนวนเหตุในครั้งนี้ คือเหตุการณ์ ยิงประชาชน ที่จังหวัดยะลา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เหตุเกิดที่บ้านเลขที่ 228 หมู่ 4 ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 โดยในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบปากคำ ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด 10 คน ในข้อหาดังต่อไปนี้

  • ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
  • ร่วมกันเป็นอั้งยี่
  • ร่วมกันเป็นซ่องโจร
  • ร่วมกันมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้โดยผิดกฎหมาย
  • ร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้านโดยผิดกฎหมาย

ซึ่งในเวลาต่อมาสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 5 ราย และยังหนีหมายจับอีก 5 ราย และนำผู้ต้องหาทั้ง 5 รายดำเนินการตามกระบวนการ จนท้ายที่สุดเป็นชนวนเหตุ นำไปสู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ศาลจังหวัดยะลา วานนี้