เทศกาลชนกว่าง กีฬาพื้นบ้านของเชียงใหม่ เริ่มขึ้นแล้ว ชาวบ้านนำด้วงกว่างตั้งแผงขายสร้างรายได้เสริม ทำเงินได้วันละหลายพันบาท ขณะที่เจ้าของแผงขายกว่างชน เผยว่าปัจจุบันกว่างหายาก ต้องนำมาจากภาคอีสาน นอกจากนี้กีฬาชนกว่างยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ทำไม้ผั่นกว่างมาวางขายให้กับเซียนกว่างชน
บริเวณตลาดดอกไม้บนถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด อ.เมืองเชียงใหม่ เป็นไปอย่างคึกคักจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่นำด้วงกว่าง มาตั้งแผงขายในตลาด โดยแต่ละเจ้าจะนำท่อนอ้อยที่มีด้วงกว่างเกาะกินอยู่ ทั้งแขวนและวางอวดโฉมให้ผู้คนที่ชื่นชอบแมลงชนิดนี้ได้ชื่นชม และเลือกซื้อกันอย่างเพลิดเพลิน ซึ่งมีราคาขายตั้งแต่ตัวล่ะ 100 ไปจนถึง 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับลักษณะสี รูปร่าง ขนาดตัว และเขาของด้วงกว่างแต่ละตัวด้วย
ทั้งนี้ ด้วงกว่าง เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งที่ผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งภาคอื่น ๆ ให้ความนิยมนำจับมาเลี้ยงเพื่อชื่นชมความสวยงาม รวมทั้งการนำมาชนกว่างเพื่อประลองฝีมือกัน ด้วงกว่าง ที่นิยมนำมาชนกันจะเป็นด้วงกว่างสองเขา เนื่องจากลักษณะเขาที่มีเพียงแค่ 2 สามารถงัดกันได้เร็ว และรู้ผลแพ้ชนะง่ายกว่าด้วงกว่างชนิดอื่น ๆ
นายสวิง คำโพธิ์ พ่อค้าขายด้วงกว่าง บอกว่า ปัจจุบันด้วงกว่างเริ่มหายาก เนื่องจากมีการทำลายถิ่นที่อยู่ของด้วงกว่างที่จะอยู่ในป่า ด้วงกว่าง ที่นำมาขายส่วนใหญ่จะนำมาจากต่างจังหวัดและบางส่วนนำมาจากภาคอีสาน เนื่องจากทางภาคอีสานไม่นิยมนำมาชนกัน ซึ่งกว่างชนที่นำมาขายจะมาราคาตั้งแต่ตัวละ 100 – 2,000 บาท ตามขนาดตัวและความยาวของเขากว่าง
นอกจากนี้ กิจกรรมการชนกว่างยังมีการใช้อุปกรณ์อื่น เช่น ไม้ผั่นกว่าง หรือ ไม้ปั่นกว่าง เป็นไม้เล็ก ๆ ที่ใช้ปั่นตามเขาและปั่นตามกอนชนกว่าง เพื่อสะกิดให้กว่างมีความรู้สึกตื่นตัวขณะที่ชนกับคู่ต่อสู้
โดย ลุงอุดมชัย นิรุจชากุล วัย 80 ปี ชาวบ้านสันศรี ตำบลสันพระเนตร อำเภอสันทราย เปิดเผยว่า ช่วงฤดูชนกว่างได้นำไม้ผั่นกว่างที่ทำขึ้นเองจากวัสดุที่หลากหลายเช่น ไม้ประดู่ เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ ไม้เนื้อแข็ง ทองเหลือง และที่หายาก ได้รับความนิยมที่สุดก็คือไม้ผั่นกว่างที่ทำจากไม้มะเกลือ นำมาขายตั้งแต่อันละ 30 บาทไปจนถึง 150 บาท ซึ่งแต่ล่ะวันขายได้ประมาณวันละ 400-500 บาท สร้างรายได้เป็นอย่างดีในช่วงฤดูชนกว่าง
MThai News