ประเด็นน่าสนใจ
- แนวคิดนี้หวังลดความเหลื่อมล้ำ และเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่ได้เข้าเรียนก่อน
- ยังไรก็ดียังอยู่ในการพิจารณา ยังไม่มีการบังคับใช้แต่อย่างใด
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการรับนักเรียน โรงเรียน สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2563 ว่า
ขณะนี้ได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ ตนจึงได้ตีกลับให้ไปศึกษาใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการนักเรียนเข้าเรียนยังมีความซ้ำซ้อนอยู่ โดยตนคาดว่าในเร็ววันนี้จะได้ข้อสรุป ซึ่งสาเหตุที่ยังไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์การรับเด็กเข้าเรียนใหม่นั้น เพราะเห็นว่า เด็กไม่ต้องไปแย่งเข้าโรงเรียนดังแล้ว เพราะมีโรงเรียนดีที่อยู่ใกล้บ้าน
ขณะที่ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า การจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการรับนักเรียน ประจำปี 2563 เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ
ยกเลิกสอบเข้าโรงเรียนดัง หวังลดความเหลื่อมล้ำ ให้สิทธิ์เด็กในพื้นที่
โดยโรงเรียนต่าง ๆ จะเริ่มรับนักเรียนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ดังนั้น ยังพอมีเวลา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรต้องทำให้รอบคอบมากที่สุด ไม่เกิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญ ต้องให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียนอย่างเท่าเทียม
กรณีที่คณะกรรมการ กพฐ.เสนอปรับหลักเกณฑ์โดยให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั่วประเทศ สอบรับนักเรียนเข้าเรียน 100% นั้น ส่วนตัวค่อนข้างไม่เห็นด้วย การรับนักเรียนเข้าเรียนควรดูบริบทในพื้นที่ให้รอบด้าน
เช่น บางพื้นที่มีเด็กจำนวนมาก ก็ควรให้สิทธิเข้าเรียนกับเด็กในพื้นที่เป็นอันดับแรก ในสัดส่วนที่เหมาะสม ถือเป็นการให้โอกาสกับเด็กอย่างเท่าเทียม โดยไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่แบ่งแยกเด็กเก่ง เด็กอ่อน เพราะหากเด็กที่เรียนอ่อนได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีศักยภาพ มีระบบการพัฒนาศักยภาพที่ดี ก็อาจพัฒนากลายเป็นเด็กเรียนดีในอนาคตได้