จากแปลงนาข้าว สู่ ‘เกษตรพอเพียง’ สร้างรายได้วันละ 1,000

การทำ ‘นาข้าว‘ ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยมาแต่นมนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ‘ ในการหล่อเลี้ยงชีวิตให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน และยังทำให้เกิดเงินหมุนเวียนทั้งภายในประเทศ และนอกประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้าวสารไทยที่ส่งออกในแต่ละปีมีจำนวนหลายล้านตัน จนติดลมบนตำแหน่งแชมป์ในการส่งออกข้าวอยู่หลายปีเลยทีเดียว แต่กระนั้นแล้ว การปลูกข้าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของเกษตรกรไทย ต้องประสบปัญหาในหลายๆด้าน ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องน้ำ…

Home / NEWS / จากแปลงนาข้าว สู่ ‘เกษตรพอเพียง’ สร้างรายได้วันละ 1,000

การทำ ‘นาข้าว‘ ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยมาแต่นมนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ‘ ในการหล่อเลี้ยงชีวิตให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน และยังทำให้เกิดเงินหมุนเวียนทั้งภายในประเทศ และนอกประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้าวสารไทยที่ส่งออกในแต่ละปีมีจำนวนหลายล้านตัน จนติดลมบนตำแหน่งแชมป์ในการส่งออกข้าวอยู่หลายปีเลยทีเดียว

แต่กระนั้นแล้ว การปลูกข้าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของเกษตรกรไทย ต้องประสบปัญหาในหลายๆด้าน ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องน้ำ ภัยแล้ง โรค แมลง รวมถึงต้นทุนต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรบางรายต้องถอดใจ จนทำให้ขาดทุนอย่างมหาศาล เนื่องจากผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

เช่นเดียวกับคุณวีระพงษ์ นุชมี หรือคุณหมึก อายุ 41 ปี เกษตรกร ใน ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ที่ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน จนต้องลองผิดลองถูกในการประยุกต์เกษตรแบบอื่นๆ เข้ามาผสมผสานภายในสวนของตัวเอง วันนี้ MThai News จึงขอนำเสนอเรื่องราวของคุณหมึก ที่หันมาทำ ‘เกษตรพอเพียง‘ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้อย่างน่าทึ่ง!!!

โดยคุณหมึก เปิดใจว่าที่บ้านทำนามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย จนตกทอดมาถึงรุ่นของคุณหมึก ก็เกิดแนวคิดอยากปรับเปรียบการทำเกษตร เนื่องจากในช่วงเริ่มแรกที่เข้ามาดูแลนั้น ราคาข้าวตกต่ำ และไม่เป็นไปตามที่คาดการไว้ ประกอบกับช่องทางรายได้มาจากการทำนาอย่างเดียว ซึ่งจะได้แค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น จึงลองหันมาทำสวนผัก ซึ่งไม่มีการการทำเกษตรอื่นเข้ามาผสมเลย ก่อนที่จะกลับไปปลูกข้าวอีกครั้ง เนื่องจากมีช่วงราคาข้าวขึ้นสูง แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก

จุดเปลี่ยนในการหันมาทำ ‘เกษตรพอเพียง’ อย่างจริงจังเริ่มต้นมาจากอะไร…?

“ในช่วงปี 2550 ได้รับโอกาสจากหน่วยงานราชการ ได้ไปศึกษาดูงานที่วังดุสิต จึงเกิดความคิดในการนำแนวทาง การทำเกษตรแบบผสมผสาน มาประยุกต์ใช้ในสวนของตัวเราเอง และเก็บเกี่ยวความรู้จากการศึกษาดูงานของเกษตรกรรายอื่นๆ”

นำแนวทางมาประยุกต์ใช้อย่างไรบ้าง…?

“เริ่มจากการแบ่งพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปแบบที่ชัดเจน โดยการแบ่งพื้นที่ทำนา 14 ไร่ และทำสวนผักอีก 8 ไร่  มีโรงสีข้าวขนาดเล็กไว้เพื่อกินเอง และจำหน่าย รวมถึงการเลี้ยงเป็ดไก่ 200 ตัว  ใช้พื้นที่จากร่องสวนผักในการเลี้ยงปลา การนำวัสดุจากในสวนมีใช้ให้เกิดประโยนช์มากที่สุด”

ซึ่งภายหลังที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ยังได้ฟางข้าวทำมาอัดเป็นก้อนเพื่อใช้ในการหว่านเมล็ดพันธุ์ ไว้ใช้คลุมแปลงผัก ใช้แกลบจากการสีข้าวเปลือกใส่ในแปลงผัก ใช้รำจากการสีข้าวไปเลี้ยงเป็ดไก่ รวมถึงการนำมูลเป็ดไก่ ไปใช้ในการเลี้ยงปลา อีกทั้งยังนำไปผสมทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากในสวนของตนเอง จนสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก

ปัจจุบันคุณหมึกปลูกพืชผักสวนครัว 3 ชนิดหลักๆ ด้วยกันคือ ผักคะน้า ผักกาดหอม และตั้งโอ๋ ช่วงหน้าหนาวก็จะหันไปปลูก แตงกวา และมะเขือเปราะ โดยคะน้าใช้เวลาประมาณ 50 วันจึงสามารถเก็บเกี่ยว ผัดกาดหอม 45 วัน และตั้งโอ๋ใช้เวลาประมาณ 70-80 วัน การดูแลผักในแปลงจะเป็นการใช้สารชีวภาพประมาณ 60% ควบคู่ไปกับการใช้สารเคมี ซึ่งในอนาคตคุณหมึกตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้เกษตรแบบชีวภาพมากขึ้น

สำหรับช่องทางการตลาดนั้น จะมีพ่อค้า แม่ค้าเข้ามารับซื้อผักโดยตรงเลย ในส่วนของราคาในช่วงนี้ คะน้า กิโลละ 10 บาท ตั้งโอ๋ กิโลละ 50 บาท ผักกาดหอม กิโลละ 15 บาท ซึ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลกินเจราคาผักก็จะพุ่งสูงอาทิ คะน้าก็จะขยับราคาขึ้นเป็นกิโลละ 20 บาท ผลผลิตจะมีทุกวัน จนสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัววันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

อีกทั้งช่องทางรายได้จากการเลี้ยงเป็ดไก่ ซึ่งในแต่ละวันก็จะได้ไข่เป็ดอีกกว่า 100 ฟอง ก็เพียงพอที่จะนำไปจำหน่ายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

คุณหมึกยังบอกอีกว่าขณะนี้เตรียมเข้าร่วมโครงการประชารัฐของ จ.นนทบุรี ในการรับซื้อผลผลิตพร้อมมีการประกันราคาที่แน่นอน และเป็นที่น่าพอใจแก่เกษตรกร ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร

อย่างไรก็ตามหลังจากที่หันมาทำ ‘เกษตรพอเพียง’ แบบผสมผสานจนทำให้สวนของคุณหมึกเห็นผลลับอย่างชัดเจน ในการทำสวนแบบพอเพียง และพอดี ไม่เกินตัวจนเกินไป ประกอบกับใช้จ่ายตามความสมควร ก็จะช่วยให้มีเงินเก็บออมได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้คุณหมึกยังเตรียมศึกษาการเพาะเห็ดเพื่อจำหน่าย ต่อยอดทางการเกษตรไปเรื่อยๆ สร้างรายได้จากหลากหลายรูปแบบอีกด้วย

dscn6084

dscn6090

dscn6091

dscn6093

dscn6099

dscn6103

dscn6107

dscn6111

7604

เรื่อง/ภาพ ธเนตร พุทธิตระกูล

ติดตามสกู๊ปข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ news.mthai.com

MThai News