ประเด็นน่าสนใจ
- จากมติครม.เห็นชอบขยายเวลาให้เงินเลี้ยงดูบุตร แรกเกิด ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี
- มาตรการนี้มีผู้มีสิทธิ์กว่า 5.6 แสนราย วงเงินรวมกว่า 1.6 พันล้านบาท
- ผู้ลงทะเบียนสามารถตรวจสอบเงินได้ทางธนาคารที่แจ้งลงทะเบียนไว้
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบขยายเวลาให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ได้เสนอต่อที่ประชุม เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัย และเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคตนั้น
>> ตรวจสอบหลักเกณฑ์ การลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
นางเทพวัลย์ ภรณวลัย รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าในมาตรการดังกล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯ พร้อมแล้วที่จะเบิกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้มีสิทธิที่มีข้อมูลครบถ้วนถูกต้องตามหลักเกณฑ์ฯ ที่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้ จำนวน 561,086 คน
โดยวันนี้ (10 ต.ค. ) จะเป็นวันแรกที่จะมีการจ่ายเงินย้อนหลังให้กับผู้มีสิทธิเป็นรายกรณี ผ่านทางบัญชีธนาคาร ที่มีผู้มีสิทธิได้ยื่นลงทะเบียนไว้ ซึ่งการโอนเงินนี้จะมีไปถึงเดือนตุลาคม 2562 โดยใช้วงเงินรวม 1,674 ล้านบาท
ทั้งนี้การจ่ายเงินในรอบเดือนต.ค.ดังกล่าว จะยังมีผู้ไม่ได้รับเงินจำนวนหนึ่ง เนื่องจากมีข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่น วัน เดือน ปีเกิดไม่ถูกต้อง เลขบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง บัญชีธนาคารถูกปิด บัญชีธนาคารผิดประเภท
ดังนั้นผู้ลงทะเบียนต้องไปให้ข้อมูลเพิ่มเติม และแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ณ สถานที่ที่ลงทะเบียน ซึ่งพม.จะเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล และการเบิกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิในรอบเดือนถัดไป
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โทร 0-2651-6534, 0-2651-6920, 0-2651-6902 หรือ 0-2255-5850-7 ต่อ 121, 122, 123, 147, 152 หรือสายด่วน พม. โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ ที่ถูกปรับเปลี่ยน มีข้อกำหนดสำคัญ คือ
- ขยายเรื่องอายุเด็กจาก 3 ขวบ เพิ่มเป็น 6 ขวบ สำหรับเด็กที่เกิดเริ่มตั้งแต่1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป
- ปรับเพิ่มวงเงินจาก 400 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท ต่อเดือน
- ขยายสิทธิผู้ถือบัตรประกันสังคมร่วมโครงการได้
- ปรับเพิ่มคุณสมบัติเกณฑ์รายได้เฉลี่ยในครัวเรือนไม่เกิน 36,000 บาท ต่อคน ต่อปี เป็นไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี
- ขยายสิทธิการคุ้มครองผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กให้ยื่นขอรับสิทธิไม่จำเป็นต้องเป็นบิดาหรือมารดาและสามารถลงทะเบียนได้ตามที่เด็กอาศัยอยู่จริง ไม่จำเป็นต้องใช้ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน