ประเด็นน่าสนใจ
- หนุ่มโพสต์โดนใบสั่งตรวจจับความเร็วรถ ระบุเป็นใบสั่งตัดต่อ
- ด้านรองโฆษกตำรวจ ชี้แจงใบสั่งเป็นของจริงไม่มีการตัดต่อ
- เตือนการนำเข้าข้อมูล การโพสต์ การแชร์ ต่างๆเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือ โลกโซเชียลมีเดีย ขอให้ใช้สติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ค “Akkarawat Ruangrojjanakorn” โพสต์ข้อความในลักษณะอาจถูกตัดต่อใบสั่ง โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและแชร์ข้อความออกไปเป็นจำนวนมา โดยได้สั่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วนั้น
ได้รับรายงานเพิ่มเติมจากกองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าเป็นการออกใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร ในสังกัดจริง โดยพนักงานจราจรได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน ต่างๆที่เกี่ยวข้อง จากข้อมูลของภาพถ่ายและวีดีโอแล้วตรวจสอบพบการกระทำความผิด ของผู้ขับขี่รถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้า สีขาว คันทะเบียน ฎบ – 1312 กรุงเทพมหานคร สถานที่เกิดเหตุ บริเวณ ถนน ทล.24 กิโลเมตรที่ 107-109 ตำบล/แขวง หัวถนน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาประมาณ 16.56 น.
จากนั้นเจ้าพนักงานจราจร จึงได้ออกใบสั่ง ในข้อหา ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด(ตาม พรบ.จร.ม.67 วรรคหนึ่ง,152) และ ฝ่าฝืนป้ายจำกัดความเร็ว(ตาม พรบ.ทางหลวงฯ ม.5(2),ม.69) โดยให้ชำระค่าปรับตามใบสั่งจำนวน 500 บาท ซึ่งถนนบริเวณจุดที่เกิดเหตุนั้นกฎหมายได้กำหนด 90 กม./ชม.(Speed limit enforcement)โดยความเร็วที่ตรวจจับได้ของผู้กระทำผิดคือ 135 กม./ชม.
อีกทั้งขณะนี้ พ.ต.อ.จตุพล เร่งถนอมทรัพย์ ผกก.6 บก.ทล. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีการกระทำความผิด หรือทำให้หน่วยงานได้รับความเสียหาย ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า ขอฝากเตือนไปยังประชาชน ในการนำเข้าข้อมูล การโพสต์ การแชร์ ต่างๆเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือ โลกโซเชียลมีเดีย ขอให้ใช้สติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่นำข้อมูลที่เป็นเท็จในประการที่น่าจะสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น เมื่อเกิดการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ตนเองก็อาจจะถูกดำเนินคดีได้
อีกทั้งในกรณีหากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการกระทำผิดเสียเองจริง ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ สร้างความเดือดร้อน ความเสียหายให้กับประชาชนหรือสังคม ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่เคยปกป้องหรือปล่อยไว้อยู่แล้ว มีการดำเนินการทางวินัย และอาญามาโดยตลอด มีการลงทัณฑ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่กระทำในลักษณะนี้ทั้ง ไล่ออก ปลดออก ให้ออก หากความผิดปรากฎชัดเจน ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ปล่อยไว้ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เสื่อมเสียชื่อเสียงขององค์กรและเสียกำลังใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประพฤติปฏิบัติดี
ที่มา : ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร.