สรุปประเด็น “สมัครใจทะเลาะวิวาท” ในคดีลุงวิศวะ

หลังจากที่เมื่อวานนี้ ศาลจังหวัดชลบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีลุงวิศวะ หรือนายสุเทพ โภชนสมบูรณ์ ในเหตุการถูกวัยรุ่นล้อมรถยนต์ จึงใช้ปืนยิงสวนออกไป จนทำให้วัยรุ่นรายหนึ่งเสียชีวิต เมื่อปี 2560 โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือ จำคุก 10 ปี ในเนื่องจากเห็นว่า…

Home / NEWS / สรุปประเด็น “สมัครใจทะเลาะวิวาท” ในคดีลุงวิศวะ

ประเด็นน่าสนใจ

  • จากคดีลุงวิศวะยิงวัยรุ่นเสียชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้น จำคุกลุงวิศวะ 10 ปี
  • สาเหตุเนื่องจาก ศาลวินิจฉัยเห็นว่า จำเลย (ลุงวิศวะ) สมัครใจทะเลาะวิวาท เพราะมีการขับรถตาม, ปาดหน้ากลุ่มวัยรุ่น หลังจากที่เกิดเหตุมีปากเสียงหน้าร้านขายของฝาก
  • ถือว่าไม่ใช่การป้องกันตัวอันสมควรแก่เหตุ จึงมีความผิด

หลังจากที่เมื่อวานนี้ ศาลจังหวัดชลบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีลุงวิศวะ หรือนายสุเทพ โภชนสมบูรณ์ ในเหตุการถูกวัยรุ่นล้อมรถยนต์ จึงใช้ปืนยิงสวนออกไป จนทำให้วัยรุ่นรายหนึ่งเสียชีวิต เมื่อปี 2560 โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือ จำคุก 10 ปี ในเนื่องจากเห็นว่า จำเลยสมัครใจทะเลาะวิวาท

ในประเด็นนี้ ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยว่า เหตุการณ์ใดเป็นการป้องกันตัว เหตุการณ์ใดไม่ถือเป็นการป้องกันตัว หรือสมัครใจทะเลาะวิวาทกันแน่

ปมคดีลุงวิศวะ เหตุใดจึงเป็นสมัครใจทะเลาะวิวาท

หากสรุปเหตุการณ์ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น อย่างรวดเร็ว ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาล คือ

  1. เหตุการณ์เริ่มต้น โดยกลุ่มวัยรุ่นจอดรถหน้าร้านขายของฝาก ไม่ชิดขอบทาง กีดขวางทางเข้าออกของรถลุงวิศวะ
  2. ลุงวิศวะและภรรยา ได้มีปากเสียงกับกลุ่มวัยรุ่นที่จอดรถดังกล่าว
  3. หลังจากนั้น กลุ่มวัยรุ่นในรถตู้ และรถยนต์ ได้ขับออกไป
  4. ลุงวิศวะและภรรยา ขับรถตามกลุ่มวัยรุ่นออกไป ระหว่างนั้นไม่พบหลักฐานว่า มีการท้าทายเกิดขึ้นอีก
  5. ฝ่ายลุงวิศวะขับรถตามกลุ่มวัยรุ่นออกไป แซงในเลนขวา แล้วบีบแตรยาวใส่รถตู้คันของกลุ่มวัยรุ่น ก่อนตีคู่ขึ้นไป แล้วบีบแตรยาว ก่อนเลี้ยวไปขวาและเบรคจนรถเกือบหยุด
  6. รถเก๋งของนายอรรถพลที่ขับมาในเลนซ้ายหักหลบรถของกู้ภัยที่จอดอยู่
  7. รถของลุงวิศวะ ได้หักปาดเข้ามารถเก๋งของนายอรรถพล แล้วไปจดด้านหน้ารถกู้ภัย ในลักษณะขวางไม่ให้รถเก๋งคันดังกล่าวขับออกไปได้
  8. กลุ่มวัยรุ่นจึงลงมาล้อมรถ จนกระทั่งนำมาสู่เหตุยิงกันเสียชีวิต

จากลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศาลวินิจฉัยในเหตุการณ์นี้ โดยสรุปประเด็นได้ว่า

  1. เหตุที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าร้านขายของฝากนั้น หากลุงวิศวะจอดรออยู่ สงบสติอารมณ์ ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
  2. การขับรถตามไป แซงตีคู่และบีบแตรยาว ก่อนแซงไปเบรคด้านหน้าคู่กรณี แสดงถึงความฮึกเหิม เนื่องจากมีอาวุธปืน และเตรียมอาวุธไว้ตั้งแต่หน้าร้านขายของฝาก
  3. การขับรถไปปาดหน้ารถเก๋งของนายอรรถพล เพื่อมีให้ขับรถไปได้ แสดงให้เห็นว่า “จำเลยมีเจตนาวิวาท” กับผู้ตาย
  4. ฝ่ายจำเลยมากันหลายคน จึงทำให้ลุงวิศวะเริ่มกลัว แต่ยังมีคำพูดที่แสดงท่าที่ยังเอาเรื่องผู้ตายอยู่ ไม่ใช่ลักษณะของคำพูดที่ขอโทษ หรือขอจบเรื่อง
  5. แม้ผู้ตายเข้ามาทำร้ายจำเลยก่อน แต่เหตุการณ์นี้เกิดต่อเนื่อง และมีพฤติกรรมเป็นกรณีที่ “ต่างฝ่ายต่างสมัครใจวิวาท” จึงอ้างสิทธิในการป้องกันตนเองไม่ได้

ป้องกันตัวแบบใดไม่ผิด

ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ระบุไว้ว่า

“ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

อะไรคือการกระทำเพื่อป้องกันสมควรแก่เหตุ / โดยชอบด้วยกฎหมาย?

หลักของการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย สมควรแก่เหตุนั้นมีหลักใหญ่ๆ  คือ

  1. เมื่อมีอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายที่ผิดกฎหมาย
    • ที่ผู้กระทำอันตรายนั้น ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
    • ผู้ที่อ้างสิทธิ์การป้องกันตัว ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ หรือมีส่วนร่วมในการก่อเหตุอันตรายเหล่านี้
  2. เมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นที่ผิดกฎหมาย และเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นกระชั้นชิด
    เช่นเป็นเหตุการเฉพาะหน้า ขึ้นทันที หากไม่ทำอะไร จะเกิดอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้
  3. เป็นการกระทำที่จำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องสิทธิของตนหรือผู้อื่นให้พ้นอันตราย
  4. การกระทำนั้นต้องสมควรแก่เหตุ
    เช่น เมื่อคนร้ายถือมีดเดินเข้ามาทำร้าย และมีการต่อสู้กันก่อนที่คนร้ายถูกมีดแทงเสียชีวิต เป็นต้น แต่ในกรณีที่คนร้ายใช้มือเปล่าเข้ามาตบหน้า ก่อนที่เราชักปืนยิง ไม่ถือว่า สมควรแก่เหตุ

ดังนั้นหากสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ขึ้นคือ การป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องไม่ได้มีการเตรียมการ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า กระชั้นชิด และหากไม่ทำอะไรสักอย่าง จะเกิดอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นเพียงการกระทำเพื่อป้องกัน ผู้กระทำได้ใช้วิธี ขั้นตอน หรืออุปกรณ์ที่น้อยที่สุด สมควรแก่เหตุที่เกิดขึ้น นั่นเอง

กรณีของลุงวิศวะ จึงไม่ใช่ลักษณะของการป้องกันตัวตามสมควรแก่เหตุ แต่เป็นการสมัครใจวิวาทนั่นเอง

ตัวอย่างคดีที่คล้ายกันและเป็นการป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2925/2526

นาย ก. ตั้งวงเดิมสุรากับเพื่อน ก่อนที่นาย ข. มาถึงและเดินไปต่อว่า นาย ก. เรื่องที่ดิน นาย ก. โมโห จึงได้ชกนาย ข. ก่อนชักปืนตบหน้าอีก นาย ข. เห็นท่าไม่ดี จึงวิ่งหนี แต่นาย ก. ได้วิ่งตามและยิงตามหลังไป 1 นัด นาย ข. เห็นท่าไม่ดี จึงได้ชักปืนยิงสวนกลับมา 1 นัด ทำให้ นาย ก. เสียชีวิต

ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า นาย ข. หันกลับมายิงนาย ก. เสียชีวิตเป็นการป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย นาย ข. ไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2285/2528

นาย ก. ไปพบนาย ข. เพื่อเจรจาขอแบ่งวัวจากนาย ข. แต่ตกลงกันไม่ได้ นาย ข. จึงชวนนาย ก. ไปตกลงกันที่บ้านผู้ใหญ่หรือกำนัน แต่นาย ก. ไม่ยอม ชักปืนออกจากเอว นาย ข.ย่อมเข้าใจว่านาย ก. จะใช้ปืนนั้นยิง นาย ข.อันเป็น ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็น ภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่ นาย ข.ใช้ปืนยิงนาย ก. ไป 1 นัด และนาย ก. ถึงแก่ความตายจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุการกระทำของ นาย ข. เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนาย ข.ไม่มีความผิด

ตัวอย่างคดีที่ถือเป็นการป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2531

ก่อนเกิดเหตุนาย ก. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จะกลับบ้านระหว่างทางพบนาย ข. ขี่รถจักรยานยนต์ตามมา เมื่อเข้าใกล้กันนาย ข. ได้ทวงหนี้ค่าสุราจากนาย ก.

นาย ก. เรียกให้นาย ข. หยุดรถเพื่อจะใช้เงิน แต่เมื่อเข้ามาจริงๆนาย ก. มีลักษณะโกรธเคืองและพูดว่าต้องสั่งสอนนาย ก. เดินเข้าไปหานาย ข. เพื่อจะทำร้าย ปรากฏว่านาย ก. เป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรง เตี้ยและอ้วนกว่านาย ข. จึงมีสิทธิป้องกันตัวไม่ให้ถูกทำร้าย แต่การป้องกันตัวของนาย ข. ดังกล่าว นาย ข. ได้ใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงนาย ก. ซึ่งเชื่อว่ามีเพียงมือเปล่าเท่านั้นจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ การกระทำของนาย ข. เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69.