PM 2.5

PM 2.5 ปัญหาและเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ส่งถึงผู้เกี่ยวข้อง

ปลายปี 2561 เมื่ออากาศหนาวเย็นลงมาปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลให้คนกรุงได้ดีใจ พร้อมกันแชร์ภาพหมอกในตอนเช้า ก่อนที่ฝันคนเมืองจะสลายลงเมื่อรู้ว่า หมอกที่เห็นนั้น เป็นหมอกควันที่เกิดจาก ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรอืที่เราเรียกกันว่า PM 2.5 นั่นเอง…

Home / NEWS / PM 2.5 ปัญหาและเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ส่งถึงผู้เกี่ยวข้อง

ปลายปี 2561 เมื่ออากาศหนาวเย็นลงมาปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลให้คนกรุงได้ดีใจ พร้อมกันแชร์ภาพหมอกในตอนเช้า ก่อนที่ฝันคนเมืองจะสลายลงเมื่อรู้ว่า หมอกที่เห็นนั้น เป็นหมอกควันที่เกิดจาก ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรอืที่เราเรียกกันว่า PM 2.5 นั่นเอง

ผ่านไปแล้ว 2-3 อาทิตย์ ที่ประชาชนอย่างเราๆ ต้องเผชิญสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง PM 2.5 ฟุ้งกระจายอยู่ในระดับอันตราย หรือเรียกว่า “ระดับแดง” แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ทางฝากฝั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไม่มีคำตอบในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้ เกิดจากอะไร จะจบเมื่อไหร่ และจะแก้ไขอย่างไร

การป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากดูจะเป็นทางเลือกแรกที่ประชาชนเลือก

ทางทีมงาน MThai จึงได้พยายามรวบรวมทุกประเด็น มาเพื่อเล่าและบอกกล่าวให้หลายฝ่ายตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

PM 2.5 มาจากไหน?

เจ้าฝุ่นละออง PM 2.5 นี้เกิดขึ้นจากการหลายสาเหตุด้วยกันเช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์ การเผาวัสดุทางการเกษตร-ขยะต่างๆ โรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงการก่อสร้างต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย

แน่นอนว่า หลายฝ่ายเพ่งเล็งในนาทีแรกว่า โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่รายรอบกรุงเทพฯ หรือไม่ ซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หนึ่งในปัญหาที่สะสมเพิ่มขึ้นคือ ปัญหาสภาพการจราจรในปัจจุบัน ที่ปฎิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งเวลาผ่านนานขึ้น รถยิ่งติดนานขึ้น และนั่นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ยิ่งสูงขึ้นมากเป็นเงาตามตัว

เหมือนการเร่งแก้ปัญหายิ่งสร้างแรงกระตุ้น

ในปัญหาการขนส่งของกรุงเทพ-ปริมณฑลนั้นเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายสิบปี ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนผ่านมากี่ผู้ว่าฯ กี่รัฐบาลต่างก็ทำได้เพียงนโยบายสวยๆ เพื่อแก้ไข หากแต่ปัญหาที่แท้จริง กับแก้ไม่ได้ดังฝัน

รถไฟฟ้าหลายสาย จึงกลายเป็นความหวังในการปลดล็อคปัญหาดังกล่าวในส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนเมืองต้องยอมรับสภาพรถติดอย่างเลี่ยงไม่ได้ในช่วงของการก่อสร้าง ซึ่งแน่นอนว่า ยิ่งรถติดหนักมากเท่าไหร่ ฝุ่นละอองอย่าง PM 2.5 ยิ่งทวีคูณ

สภาพการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า กลายเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่มายกกำลังปัญหาฝุ่นละอองในอากาศเหล่านี้ เนื่องจากการก่อสร้างสิ่งต่างๆ กลายเป็นการสร้างฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้น ในเส้นทางหลักๆ ยังไม่นับหลายจุดกลายเป็น “พื้นทีอับ” เนื่องจากกระแสลมไม่สามารถพัดผ่านตามเส้นทางได้เหมือนอย่างที่เคยเป็น ทำให้ฝุ่นละอองเหล่านี้ ก็ฟุ้งขึ้นสู่อากาศและ “ลอยนิ่ง” ไม่ไปไหนนั่นเอง

ฝุ่นละอองฟุ้งปกคลุมกรุงเทพฯ เช้าวันนี้

สภาพอากาศเปลี่ยน ลมหยุดนิ่ง ฝุ่นละอองก็ฟุ้งอยู่ที่เดิม

การจราจรที่ติดขัด การเดินทางที่ไม่สะดวก ทำให้หลายคนที่พอมีทางรายได้ เลือกที่จะซื้อคอนโดในเมืองมากขึ้น ทำให้จำนวนของคอนโดมิเนียมในย่านต่างๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดขนาดใหญ่แทบทุกหัวถนนสายหลัก

การก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูงเหล่านี้ ย่อมสร้างปัญหาฝุ่นละอองเข้ามทับถมในระบบไม่น้อยทีเดียว ยังไม่นับรวมที่หลายโซนนั้นกลายเป็นจุดอับจากคอนโดที่รายล้อมถนนสายหลัก ควันรถ-ฝุ่นจากการก่อสร้าง และเมื่อลมไม่ไหลผ่าน สภาพเมืองจึงไม่ต่างจากถังดักฝุ่นนั่นเอง

นอกจากนี้ หลายฝ่ายต่างกล่าวกันอีกว่า กระแสลมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศ กทม.และปริมณฑลที่เคยเป็นเมืองปากอ่าวไทย มีกระแสลมพัดผ่าน กลายเป็นพื้นที่ไม่ได้มีกระแสลมเหมือนก่อน ยิ่งทำให้เกิดภาวะไม่ต่างจากโดมฝุ่นละอองปกคลุมเมืองนั่นเอง

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด แม้ลมจะพัดมาแต่ดันพาฝุ่นมาด้วย

ในเขตพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล จะไม่ค่อยมีปัญหาฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ทางการเกษตรเท่าใดนัก เนื่องจากพื้นที่ไม่ได้เป็นแหล่งเกษตรกรรมเหมือนพื้นที่ต่างจังหวัด แต่กระแสลมในระยะนี้ที่พัดมา กลับพัดพาเอาฝุ่นละออง จากทั้งในประเทศเราและเพื่อนบ้านเข้ามาสมทบอีก

ภาพจากเว็บ airvisual.com/earth ที่จะเห็นว่ากระแสลมพัดเอาฝุ่นละอองมาประดังที่กทม.

จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่า กระแสลมที่พัดมานั้น มาจากทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีกิจกรรมการเผาวัสดุทางการเกษตรจำนวนไม่น้อย และทางตอนบนของประเทศไทยเอง ก็มีอยู่ด้วเช่นกันที่เกิดกระแสลมไหลเข้ามายังตอนกลางของประเทศไทย ก่อนไหลผ่านออกไปทางภาคตะวันตก

ภาพกระแสลมและจุดที่มีการเผาจากภาคเกษตรกรรม จากเว็บ http://asmc.asean.org/home/

กรุงเทพ ไม่ใช่ที่เดียวในโลกที่ประสบปัญหา

เมื่อวานนี้ทางการเกาหลี ได้ประกาศเตือนประชาชน ในเรื่องของหมอกควัน ฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ให้ออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น งดกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งหากใครจะไปเกาหลีใต้ในช่วงนี้ สภาพอากาศคงไม่ต่างจากกรุงเทพมากนัก “วิกฤติเช่นกัน”

วิกฤติสภาพอากาศ PM2.5 ในเกาหลีใต้

ภาพด้านบนเป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ AQICN.org (14 ม.ค. 2562 เวลา 10.00 น. ) จะเห็นว่า เกาหลีใต้ ประสบปัญหาสภาพอากาศอยู่ในระดับอันตรายไม่ต่างจากกรุงเทพ เพียงแต่พื้นที่นั้นกินบริเวณที่กว้างมากกว่าหลายเท่านัก

ขยับไปด้านบนแผ่นดินใหญ่ เราจะพบว่า สภาพอากาศเลวร้ายลงไปอีก สภาพอากาศนั้นเต็มไปด้วยฝุ่นละอองพิษในระดับที่เลวร้ายทีเดียว

สภาพอากาศที่เต็มไปด้วย “ระดับแดง” เต็มไปหมด ในพื้นที่ของประเทศจีน

แต่ไม่ใช่ทุกที่เสมอไป หากเลื่อนออกไป จะพบว่า ญี่ปุ่นมีพื้นที่สีแดงที่เป็นปัญหาอยู่เพียงไม่กี่แห่ง แต่สภาพอากาศโดยรวมนั้น ค่อนข้างดีทีเดียว

สภาพอากาศบริเวณเหนือประเทศจีน-เกาหลี จะเห็นมลภาวะอยู่ในระดับแดงทั้งพื้นที่

……………………….

แล้วตอนนี้ประชาชนควรทำตัวอย่างไร และรัฐจะแก้ปัญหายังไงต่อ ใครจะตอบคำถามเหล่านี้ได้บ้าง??

……………………….

ณ เวลานี้หน่วยงานต่างๆ ทำอะไรกันบ้าง?

นั่นเป็น 1 ในคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ และอีกหลายคำถามที่ประชาชนต่างตั้งคำถามถึงการแก้ไขปัญหาทั้งปัญหาเฉพาะหน้าในตอนนี้ และในอนาคตอีกด้วย ซึ่งยังคงไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่ง ณ เวลานี้ หน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง “เริ่ม” จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วโดยเบื้องต้น โดยสรุปมาตรการต่างๆ ได้แก่

  • หน่วยฝนหลวงเตรียมพร้อมขึ้นทำฝนเทียม หากสภาพอากาศพร้อมจะขึ้นปฏิบัติภารกิจทันที
  • กทม. จัดรถฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อช่วยลดค่าฝุ่นละอองในหลายๆ จุดด้วยกัน
  • กทม. จะมีการเพิ่มการล้างถนนอย่างเข้มข้น
  • จัดหน่วยตรวจฝุ่นละอองจากการก่อสร้างเพิ่มขึ้น
  • ขนส่ง, ตร.จราจร จะเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดปัญหาควันดำในรถในเขตเมือง ระบายรถให้เร็วมากขึ้น
  • กำหนดเวลาการวิ่งของรถบรรทุกในเขตเมือง
  • กรมควบคุมมลพิษเสนอมาตรการระยะยาวคือ ปรับมาตรฐานน้ำมันดีเซลเป็นไบโอดีเซล หรือ B20 จัดทำโครงข่ายที่จอดแล้วจรเพิ่มขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ทางกทม. ยังขอความร่วมมือ ประชาชนเพิ่มในเรื่องของการลดใช้รถยนต์ส่วนตัว, งดเผาในที่โล่งแจ้ง, งดสูบบุหรี่ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง – 

หลายคนสงสัย แล้วมาตรการระยะยาวคืออะไร?

ใส่หน้ากากฯ ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว ฯลฯ คือระยะสั้น แล้วระยะยาวคืออะไร? จะแก้กันอย่างไร สิ่งเหล่านี้ เป็นคำถามที่ชาวกรุงเทพ รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่โดยรอบต่างสงสัยกันว่า สุดท้ายแล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาวบ้าง เนื่องจากในทุกครั้งที่มีปัญหาเรื่องมลภาวะต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่จะมีการแก้ไขปัญหาระยะสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • การให้ประชาชนสวมหน้ากาก N95 ป้องกันตัวเอง
  • การลดใช้รถยนต์ ใช้ขนส่งสาธารณะ
  • งดเผาขยะ-วัสดุทางการเกษตร ฯลฯ
  • ตรวจควันดำ
  • ฯลฯ

แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่คนไทยถามถึงและอยากรู้คือ ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก เช่น การพัฒนาขนส่งมวลชนที่ดีขึ้นอย่างจริงจัง การส่งเสริมการใช้รถจักรยานในการเดินทางอย่างจริงจัง  สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ประชาชนต้องการอยากรู้

 

……………………….

สิ่งที่เราอยากรู้ ไม่ใช่แค่ใส่หน้ากากในวันนี้ แต่สิ่งที่เราอยากรู้คือวันหน้าเราจะไม่ต้องเจอปัญหานี้ได้อย่างไร และตลอด 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมา เรารู้สึกว่า หน่วยงานต่างๆ นิ่งเฉยมากๆ จนคิดว่า “หรือประชาชนต้องพึ่งตัวเอง???

– น้องนักศึกษาย่านบางเขน กล่าวกับทีมงาน

……………………….

ในสภาวะของการเลือกตั้งที่กำลังใกล้จะมาถึง แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่า จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ตาม แต่ถือเป็นโอกาสอันดีที่แต่ละพรรคจะโชว์นโยบายในด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน และยั่งยืนมากกว่าที่ผ่านมา ที่ได้แต่หวังว่า ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

รวมภาพแบบพานอรามา ทั้ง 4 มุมจากออฟฟิศเอ็มไทย

  • ทิศตะวันออกของตึก
  • ทิศใต้ของตึก
  • ทิศตะวันตก
  • ทิศเหนือ