ZyCoV-D วัคซีนโควิด-19 วัคซีนไร้เข็ม

[อินเดีย] ผู้ผลิตยายื่นขออนุมัติ วัคซีนโควิด-19 แบบไร้เข็ม – ฉีด 3 โดส

เป็น “วัคซีนพลาสมิดดีเอ็นเอ (Plasmid DNA) ตัวแรกของโลก”

Home / NEWS / [อินเดีย] ผู้ผลิตยายื่นขออนุมัติ วัคซีนโควิด-19 แบบไร้เข็ม – ฉีด 3 โดส

ไซดัส คาดิลา (Zydus Cadila) บริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติอินเดีย เผยว่าบริษัทฯ ได้ยื่นขออนุมัติใช้งานกรณีฉุกเฉินแก่วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ผลิตเอง ต่อหน่วยงานกำกับดูแลยาของประเทศแล้ว

บริษัทฯ ได้ยื่นขออนุมัติวัคซีนไซคอฟ-ดี (ZyCoV-D) แบบฉีด 3 โดส ซึ่งเป็น “วัคซีนพลาสมิดดีเอ็นเอ (Plasmid DNA) ตัวแรกของโลก” ต่อองค์การควบคุมยาแห่งอินเดีย (DCGI) พร้อมชี้ว่าไซคอฟ-ดี เป็นวัคซีนชนิด “ไร้เข็ม”(วัคซีนที่ใช้วิธีฉีดผ่านเครื่องเพื่อให้น้ำยาเข้าไปในผิวหนัง) และ “ปลอดภัยสำหรับเด็ก” โดยวางแผนจะดำเนินการผลิตสูงสุด 120 ล้านโดสต่อปี

“วัคซีนไซคอฟ-ดี เข้าสู่การทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดียในศูนย์ทดลองมากกว่า 50 แห่ง และนับเป็นครั้งแรกของอินเดียที่ทดสอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประชากรวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี” แถลงการณ์จากบริษัทฯ ระบุ พร้อมเสริมว่า “มีประชากรกลุ่มอายุดังกล่าวเข้าร่วมการทดลองราว 1,000 คน และพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีความทนทานดีมาก”

“ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการจากการตรวจด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรสแบบย้อนกลับ (RT-PCR) บรรลุประสิทธิภาพขั้นต้นที่ร้อยละ 66.6 ในการวิเคราะห์ระหว่างการทดลอง ขณะที่ไม่พบผู้ป่วยอาการปานกลางหลังการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพร้อยละ 100 ในการป้องกันอาการป่วยปานกลาง”

บริษัทฯ กล่าวว่าไม่พบผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 พร้อมชี้ว่า “การปรับใช้เทคโนโลยีพลาสมิดดีเอ็นเอนั้นเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการรับมือกับโรคโควิด-19 เนื่องจากมันสามารถปรับให้เข้ากับการกลายพันธุ์ของไวรัสได้อย่างง่ายดาย ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ที่อุบัติขึ้นแล้ว”

หากผ่านการอนุมัติ วัคซีนไซคอฟ-ดี จะกลายเป็นวัคซีนตัวที่ 5 ที่ถูกนำมาใช้งานในอินเดีย ถัดจากวัคซีนโควิชีลด์ (Covishield) ของสถาบันเซรุ่มอินเดีย (SII) วัคซีนโควาซิน (Covaxin) ของภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) วัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ของรัสเซีย และวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ของสหรัฐฯ

“ไซคอฟ-ดี เป็นวัคซีนแบบฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 3 โดส ซึ่งใช้เทคโนโลยีทรอปิส (Tropis) หรือระบบการฉีดยาแบบไร้เข็มของบริษัทฟาร์มา เจ็ต (Pharma Jet) ทั้งยังสามารถลดการเกิดผลข้างเคียงใดๆ ลงได้อย่างมาก” บริษัทฯ เสริม

“วัคซีนไซคอฟ-ดี จะถูกเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส แต่จะยังคงปกติดีที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อีกทั้งความทนทานต่อความร้อนของวัคซีนจะช่วยให้สามารถขนส่งและจัดเก็บวัคซีนได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งลดความเสี่ยงจากการขนส่งแบบห่วงโซ่ความเย็นที่อาจทำให้วัคซีนเสียหายได้”

ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในอินเดีย จะลดลงจากระดับสูงสุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่คณะผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนถึงการระบาดระลอกที่ 3 พร้อมเน้นย้ำว่าการฉีดวัคซีนขนานใหญ่ยังคงเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันการระบาดที่ดีที่สุด

ที่มา – ซินหัว